ส่งทีมตรวจหญิงตั้งครรภ์ในเชียงใหม่สกัดซิกา

ที่มา: www.thaipost.net


ส่งทีมตรวจหญิงตั้งครรภ์ในเชียงใหม่สกัดซิกา thaihealth


แฟ้มภาพ


สธ.เฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเข้มข้น ส่งทีมตรวจหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่พบผู้ป่วย 2 รายทันที หวั่นกระทบลูก ด้าน ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อฉบับใหม่


นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2559-2561 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีการวางแผนตามแนวทางทั้งหมด 1,030 หน่วยงานทั่วทั้งประเทศ ติดตามผลภายใน 30 วัน ตั้งเป้าจะกวาดล้าง กำจัด ควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญของประเทศด้วยระบบและเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ทันต่อสถานการณ์และเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ โดยมีแผนปฏิบัติการ 4 ระบบหลักคือ 1.ระบบป้องกันโรคติดต่อ (Prevent) 2.ระบบตรวจจับภัยจากโรคติดต่อ (Detect) 3.ระบบควบคุมโรคติดต่อและตอบสนองต่อปัญหา (Respond) และ 4.ระบบสนับสนุนการดำเนินงานด้านโรคติดต่อ (Support) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณต่อไปได้


เกี่ยวกับการพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาล่าสุด 2 รายที่พบใน จ.เชียงใหม่ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า เด็กทั้งสองคนเป็นพี่น้องกัน เบื้องต้นพบว่ามีอาการไม่รุนแรง ในขณะนี้สามารถรักษาให้หายและกลับบ้านได้แล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการเฝ้าระวัง เนื่องจากหากมียุงที่เป็นพาหะนำโรคมากัด อาจก่อให้เชื้อกลับมาได้ นอกจากการเฝ้าระวังในตัวเด็กที่ป่วยแล้ว ยังต้องมีการเฝ้าระวังพื้นที่ใกล้เคียง เพราะอาจมีการแพร่เชื้อได้ในระยะใกล้เคียง ซึ่งการเฝ้าระวังดังกล่าวมีการกำหนดระยะเวลาไว้ภายใน 28 วัน หากไม่มีการตรวจพบโรคดังกล่าวถือว่าการควบคุมเฝ้าระวังได้ผลสำเร็จ 


"ขอฝากไปยังประชาชนว่าอย่าเพิ่งแตกตื่นกับโรคดังกล่าว เนื่องจากยังอยู่ในข่ายที่สามารถควบคลุมได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีการลงพื้นที่ดูแลอย่างเต็มที่ในการกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะของโรค"


นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า สำหรับการเฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่พบเด็กที่มีสมองเล็กกว่าปกติจากการติดเชื้อไวรัสซิกาเหมือนในประเทศบราซิลที่มีการติดเชื้อของเด็กในท้อง แต่ทั้งนี้ทาง สธ.ไม่นิ่งนอนใจ มีการลงไปตรวจสอบพื้นที่ที่มีหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ แต่ยังมีจำนวนตัวเลขที่แน่นอน อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ในระหว่างนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการเฝ้าระวังด้วยวิธีง่ายๆ คือ ทำลายแหล่งที่มีน้ำขังในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นบ่อเกิดของยุงลาย ซึ่งในทางปฏิบัติถือว่ายังมีการปฏิบัติน้อยอยู่


ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานจากพื้นที่และได้ส่งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ทั้งสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และสำนักระบาดวิทยา ลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมง ทันทีที่ได้รับรายงานจากพื้นที่ และทางจังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเต็มที่ เบื้องต้นผู้ป่วยเป็นเด็กไทยอายุ 9 กับ 11 ปี (เป็นพี่น้องกัน) มีอาการไข้ออกผื่นทั้งสองราย ไม่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยทั้งสองรายได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้อาการหายเป็นปกติและเดินทางกลับบ้านแล้ว ผลการสอบสวนโรคล่าสุดขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มเติม  


อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่า ส่วนการเฝ้าระวัง ป้องกันขั้นต่อไป จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. แต่งตั้งคณะทำงานประจำช่องทางเข้า-ออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ดำเนินการตามนโยบาย ระบบ และแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่คณะกรรมการกำหนด และจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โดยพิจารณาจากแผนปฏิบัติการฯ สอดคล้องและตามลำดับความสำคัญที่เป็นปัญหาของพื้นที่ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝน ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยกรมควบคุมโรคจะสนับสนุน ติดตาม รวมทั้งประเมินผล มั่นใจว่าคณะกรรมการโรคติดต่อทั้งระดับจังหวัดและ กทม.จะช่วยให้งานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อสำเร็จได้.

Shares:
QR Code :
QR Code