สู้พิษงูด้วยสมุนไพร

 

ที่ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ไม่มีใครที่ไม่รู้จักพ่อเอียะ สายกระสุน หรืออย่าว่าแต่ในพื้นที่เลย เพราะผู้อาวุโสท่านนี้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับประเทศ เมื่อเอ่ยถึงการรักษาพิษงู

พ่อเอียะใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัด โดยเป็นหมอรักษาพิษงูมาตั้งแต่หนุ่ม จนวันนี้ พ่อเอียะวัยล่วง 60 ไปแล้ว กล้าที่จะบอกว่า คนถูกงูกัดที่มาหาพ่อเอียะนั้น หายดีกันทุกราย โดยผู้อาวุโสท่านนี้ ได้รับการยอมรับ และได้เข้ารักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัดในโรงพยาบาลด้วย

เมื่อนึกถึงวิธีการรักษาพิษงูแบบพื้นบ้าน ในโรงพยาบาลสมัยใหม่ หมอพื้นบ้านวัยกว่า 60 มานั่งฝนยาสมุนไพร พร้อมท่องคาถาขมุบขมิบที่มุมปาก

นายแพทย์อภิสรร บุญประดับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เล่าว่า ตอนแรกที่มีคนมาเล่าเรื่องนี้ ก็ไม่เชื่อ แต่พอได้ยินเยอะๆ จึงลงไปดูด้วยตัวเอง ตอนแรกนั้น เพราะว่ากลัวชาวบ้านจะได้รับอันตรายจากการดูแลรักษาที่ผิดวิธี ทว่าเอาเข้าจริงถึงได้รู้ว่า คนที่ทำเรื่องนี้ เขาทำมาก่อนหมอจะเกิดเสียอีก

“ส่วนผลการรักษา ผมยังทึ่งเลย มารักษา 100 คน หายรวด 100 คน ดีกว่าใช้เซรุ่มอีก ผมจึงชวนแกเข้ามาทำงานร่วมกับเรา เป็นแพทย์แผนทางเลือกไป แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าใครถูกงูกัด มาโรงพยาบาลเราแล้ว จะไม่ให้ยาแพทย์ปัจจุบันเลยนะ เราจะทำในลักษณะควบคู่กันซะมากกว่า” นายแพทย์อภิสรรเล่า

พ่อเอียะ เป็นเจ้าของหลักการแพทย์พื้นบ้านด้วยตำรับยาสมุนไพรโลดทะนงแดง เล่าให้ฟังว่า ที่มาของการใช้สมุนไพรรักษาพิษ งูนั้น เกิดจากเรื่องฝังใจที่น้องสาวของตัวถูกงูกัดตายในปี 2514

“ตอนนั้นพ่อทำอะไรไม่ได้เลย จะไปขอให้ใครมาช่วยเหลือ สมัยนั้น บ้านเราก็อยู่ห่างไกล ทั้งหมอทั้งยาก็ขาดแคลน อีกอย่างพ่อไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีกในครอบครัวอื่น หรือกับคนที่รัก พ่อเสาะหาว่า มีใครที่มีความรู้ด้านการรักษาพิษจากงู” พ่อเอียะเริ่มต้นเล่า “พ่อพยายามสืบหาอยู่ตั้งนานว่า มีญาติหรือคนรู้จักที่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพรแก้พิษงูอยู่บ้างมั้ย จนกระทั่งพบว่า ลุงของเราเองนี่แหละ ที่เป็นคนที่เราตามหา ใช้เวลาศึกษาหลายปีอยู่เหมือนกัน จึงสามารถกลับมารักษาคนที่บ้านเราเองได้”

พ่อเอียะทำการรักษาพิษงูเรื่อยมา ตั้งแต่ ปี 2523 จนเริ่มมีคนรู้จัก และติดต่อให้ไปงานที่โรงพยาบาลต่างๆ จนกระทั่ง ปี 2549 โรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เปิดดำเนินการ และเห็นว่า พ่อเอียะเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า มีความสามารถ จึงได้รับการชักชวนเข้ามาทำงานร่วมกัน

ในวันนี้ พ่อเอียะบอกว่า ภาคภูมิใจมากกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำ แต่ก็ยังอดรู้สึกเสียดายไม่ได้ ที่สูญเสียน้องสาวไป

 

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ