สูบบุหรี่จัดเสี่ยง“สูญเสียฟัน-มะเร็งช่องปาก”

/data/content/24458/cms/e_cfghilnprs27.jpg


          กรมอนามัยเตือนคนสูบบุหรี่เสี่ยงฟันร่วงหมดปากมากกว่าคนไม่สูบ 2 เท่า เตือนเกิดคราบขาว แดง ขูดไม่ออกที่กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น แผลช่องปากไม่หายใน 2 สัปดาห์ เสี่ยงมะเร็งช่องปาก แนะพบทันตแพทย์หารอยโรค เผยถอนฟัน ผ่าฟันคุด แต่ไม่เลิกบุหรี่ทำแผลหายช้า ติดเชื้อง่าย เป็นโรคปริทันต์รักษาไม่หายขาด


          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ 5-14 มวนต่อวัน จะมีโอกาสสูญเสียฟันมากกว่าคนไม่เคยสูบ 2 เท่า และแม้จะเลิกสูบแล้วก็ต้องใช้เวลาถึง 10-12 ปี กว่าความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันจะลดลงเท่าคนปกติ ทั้งนี้ ผลกระทบจากการสูบบุหรี่คือ คราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนตัวฟัน วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสี ช่องปากสกปรกและมีกลิ่นปาก นอกจากนี้ ควันและความร้อนจะทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากระคายเคือง อักเสบ และหนาตัว ลิ้นเป็นฝ้าจนการรับรสด้อยลง สุดท้ายเสี่ยงต่อการเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งช่องปาก สังเกตได้จากรอยแผ่นคราบสีขาวหรือสีแดง ขูดไม่ออก บริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น และแผลในช่องปากไม่หายเองใน 2 สัปดาห์ หากมีความผิดปกติเช่นนี้ต้องรีบพบทันตแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ทุกวันและมีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อหารอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากเป็นประจำ เพราะการรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้


          “การสูบบุหรี่ยังเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม ซึ่งคราบบุหรี่ที่เหนียวเหมือนน้ำมันดินจะติดแน่นบนตัวฟัน การขัดออกต้องใช้เวลามาก ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นโรคปริทันต์จะรักษาไม่หายขาด อีกทั้งโรคยังจะลุกลามมากขึ้นจนต้องสูญเสียฟันไป สำหรับผู้ที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด หรือผ่าตัดในช่องปาก ถ้าไม่หยุดสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อที่เบ้ากระดูกได้ง่าย การใส่รากฟันเทียมเป็นข้อห้ามในคนสูบบุหรี่ เนื่องจากโอกาสประสบความสำเร็จน้อยมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายซึ่งสูงมากโดยเปล่าประโยชน์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


       


 


          ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code