สูตรปุ๋ยอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี อ.วังสะพุง จ.เลย

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 


สูตรปุ๋ยอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี อ.วังสะพุง จ.เลย thaihealth


ชาวบ้านนาดอกไม้ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยคิดค้นปุ๋ยอินทรีย์สูตรเฉพาะจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น กากอ้อย ขี้วัว ขี้หมู ในอัตรา1:1รดด้วยกากน้ำตาลแล้วพลิกกลับกองนาน1เดือน เพื่อลดการใช้สารเคมีในนาข้าว


พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่นี่ เป็นการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวบ้าน รองลงมาคือ สวนยางพารา มันสำปะหลัง และน้อยที่สุดคือนาข้าว ซึ่งจากการเฝ้าสังเกตการณ์ในพื้นที่พบว่าไร่อ้อย คือ พื้นที่หลักที่ต้องใช้สารเคมี ทั้งการคลุมวัชพืชไม่ให้เกิดขึ้นมาแซมอ้อย การใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งผลผลิต เป็นปัญหาโดยตรงของคนที่นี่ต้องสัมผัสกับสารเคมีหลากหลายชนิด


สูตรปุ๋ยอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี อ.วังสะพุง จ.เลย thaihealth


นายฉลาด บัวระภา ชาวบ้านนาดอกไม้ เปิดเผยว่า พื้นที่โดยรอบนาข้าวจะเป็นไร่อ้อยเกือบทั้งหมด จะปลูกข้าวกันเพียงเล็กน้อยโดยเฉลี่ยจะปลูกกันคนละไม่เกิน10ไร่ต่อครัวเรือนเพื่อไว้กินในครัวเรือน อาชีพหลักคือการทำไร่อ้อยเป็นหลัก ทำนาเป็นส่วนน้อย มีการใช้สารพิษมาก เลยเกิดแนวคิดว่านาเราทำน้อยแบบนี้ทำไมเราไม่ลดสารพิษบ้าง


“จากการมองเห็นสถานการณ์ปัญหา และการตั้งข้อสังเกต นำมาซึ่งการประชาคมเพื่อลงมติของหมู่บ้าน เปิดรับสมาชิกผู้ที่สมัครใจมาทำการเกษตรแบบใหม่ที่แตกต่างจากแบบเดิม เมื่อก่อนทำแล้วปุ๋ยเคมีหว่าน จุดไฟเผาเลย ทำให้ไถง่าย ตอนนี้เอาปอเทืองมาหว่าน พอโตก็ไถกลบ ไถกลบตอซังข้าวด้วย และมาทำปุ๋ย ทั้งสูตรเร่งด่วนและหลายเดือน ก็ได้นำสูตรปุ๋ยนี้กลับไปทำที่บ้านด้วย” นายฉลาดกล่าว


หลังจากการลงประชาคม มีชาวบ้านกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดสนใจเข้าร่วมกิจกรรมและเกิดการรวมตัวกันเพื่อช่วยกันคิดวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งพวกเขา ได้คิดค้นวิธีทำปุ๋ยด้วยวัสดุง่ายๆ ที่หาได้จากชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียง และได้พัฒนาเป็นสูตรปุ๋ยอินทรีย์ที่จดจำได้ง่าย โดยใช้ชื่อว่าสูตรปุ๋ยอินทรีย์1:1ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวโดยทำจากกากหม้อกรองของอ้อย ขี้วัว ขี้หมู รำข้าวและกากน้ำตาล นำมาผสมกันในอัตรา1:1ได้แก่ ขี้วัว1กระสอบ ขี้หมู1กระสอบ กากหม้อกรองของอ้อย1 กระสอบ คนให้เข้ากันแล้ว แล้วนำกากน้ำตาลมาผสมน้ำมารดแล้วพลิกกลบให้เข้ากันหมักทิ้งไว้นาน 1เดือน และแบ่งปันกันในอัตราคนละเท่าๆ กันเพื่อเอาไปใส่ในนาตัวเอง


นางตุ๊ พันยา ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาดอกไม้ กล่าวว่า จำนวนพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านรวมแล้วประมาณ 2,009 ไร่ ปี 2560 ที่ผ่านมาชาวบ้านปลูกข้าว 78 ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน10ไร่ เพราะแบ่งพื้นที่ไปปลูกอ้อยส่วนใหญ่ มันส่งผลกระทบต่อตัวเอง มีการเจ็บป่วยไปหาหมอ หมอบอกว่าเกิดจากการใช้สารเคมี จึงมีการทำประชาคมหมู่บ้านและลงมติในหมู่บ้านว่า จะต้องลดสารเคมีในอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันลง นั่นคือข้าว พอรู้ว่าเราจะลดสารเคมีในนาข้าวแล้วเราจะเอาอะไรมาทดแทน เริ่มจากการปลูกพืชบำรุงดิน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเราปลูกถั่วเหลืองก็สามารถปรับปรุงดินได้ หากคนไหนไม่ปลูกถั่วเหลืองก็ไถพวนแล้วนำต้นปอเทืองมาหว่านให้ออกดอกแล้วไถกลบ เตรียมดินเพื่อเพราะปลูกข้าว


สูตรปุ๋ยอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี อ.วังสะพุง จ.เลย thaihealth


ปัจจุบันปัญหาการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรมีอัตราเพิ่มมากขึ้น เมื่อดูจากสถิติปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2560 กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา (2559) ปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรอยู่ที่ 160,826 ตันคิดเป็นมูลค่า 20,618 ล้านบาท ในปี 2561 มีปริมาณการนำเข้ารวม 198,317 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 27,922ล้านบาท จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่นำเข้ามากที่สุด คือ สารกำจัดวัชพืช ในปริมาณ 148,979 ตัน มูลค่ารวม 13,868 ล้านบาท นอกจากตัวเลขการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ยังพบว่าปัญหาสุขภาพของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมี ยังมีอัตราที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน


บ้านนาดอกไม้ มีสมาชิกจำนวน 75 ครัวเรือนในปี 2560 มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 35 คนและในปี2561 นี้ มีสมาชิกต้องการเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 65 คน โดยมีการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ในชื่อโครงการการลดการใช้สารเคมีในนาข้าว

Shares:
QR Code :
QR Code