สูงวัย ยังไปต่อ! วัยเก๋าสุขภาพดี ไม่มีเหงา

เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวทีวันผู้สูงอายุสากล “สูงวัย ยังไปต่อ (Older not Over)

ภาพโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    เมื่อปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติ ได้เคยจัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้ให้ความหมายของคำว่า “ผู้สูงอายุ” หรือ วัยชรา หมายถึง มนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของชีวิต

                    สำหรับประเทศไทย ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้สูงอายุคือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งประเทศสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา

                    สอดรับกับการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุมากกว่า 13  ล้านคน และ คาดว่า ในปี 2578  ผู้สูงอายุไทย จะเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ของประชากร  สสส.จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากล 2567 ภายใต้ภายใต้หัวข้อ “สูงวัย ยังไปต่อ (Older not Over และ แนวคิด “สูงวัยอย่างมีศักดิ์ศรี” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในสังคมและดำรงชีวิตด้วยสุขภาพที่ดีผ่านมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

                    รองรับด้วยเหตุผล วัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งทางร่างกาย ทางสมอง ทางอารมณ์และทางสังคม การได้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยนี้ ไม่เพียงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายไม่ค่อยดี เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ฯลฯ เท่านั้น  ยังมีปัญหาด้านจิตใจ วิตกกังวลกลัวถูกทอดทิ้ง ทำให้รู้สึกเดียวดาย จิตใจหดหู่ ขาดเพื่อน ขาดการสังสรรค์ คิดวิตกกังวลต่ออนาคต ตามมาอีกด้วย

                    เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากล 2567 ภายใต้แนวคิด “Ageing With Dignity การสูงวัยอย่างมีศักดิ์ศรี” ถูกจัดขึ้น เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ  ในความสูงอายุยิ่งมีความสูงค่า เพราะผู้สูงอายุเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวิต

                    อีกทั้งยังเป็นผู้มากประสบการณ์ ไม่ใช่ผู้รอรับการสงเคราะห์ สามารถเป็นพลังของสังคมและเป็นส่วนสำคัญและเป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ด้วยการใช้ศักยภาพมาร่วมพัฒนาสังคม และมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม  เพื่อเตรียมรับมือกับแนวโน้มปัญหาที่ผู้สูงอายุอาจต้องเผชิญ

                    น่ายินดีว่า เป็นเวทีที่มีภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุเข้าร่วมกว่า 500 คน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ ในความสูงอายุยิ่งมีความสูงค่า เพราะผู้สูงอายุเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวิต ผู้มากประสบการณ์ ไม่ใช่ผู้รอรับการสงเคราะห์ โดยมีพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองในหลายด้าน

                    โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวคิดให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองและมีบทบาทในชุมชนผ่านกิจกรรม “4 เพลิน” ที่ประกอบด้วย เพลินกาย-ใจ, เพลินชีวา, เพลินทำ และเพลินอารมณ์

                    อีกทั้งยังมีการนำเสนอพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงวัยที่ครอบคลุม จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถนำไปใช้ชีวิตในชุมชนของตนเอง  ล้วนเป็นแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในระยะยาว

                    กล่าวสำหรับบทบาทของ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.ได้เกริ่นนำห้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงที่กำลังมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมผู้สูงอายุไทยที่กำลังเกิดขึ้น นั่นคือ…

                    ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรสเพียงลำพังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งในมุมเศรษฐกิจและสุขภาพ “ ซึ่ง ทาง สสส. ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ครอบคลุม โดยมุ่งเน้นใน 4 มิติ สำคัญ คือ

                    มิติสุขภาพ ที่หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดปัญหาการเจ็บป่วย ลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มิติเศรษฐกิจ สร้างโอกาสและสนับสนุนรายได้เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้  

                    ตามมาด้วย มิติสังคม สร้างพื้นที่ที่ผู้สูงอายุสามารถมีส่วนร่วมกับชุมชน กิจกรรม งานอดิเรก และงานจิตอาสา รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ และ ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง และ มิติสภาพแวดล้อม ออกแบบสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรอันเอื้อต่อการใช้ชีวิต

                    ตามด้วย ดร.ณปภัช สัจนวกุล ผู้แทนจาก ESCAP ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก  ( Economic and Social Commission for Asia and the Pacific ) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงวัยของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลก็จะมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

                    ดังนั้น ระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ทุกคนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ESCAP สนับสนุนแนวคิด “การสูงวัยอย่างมีศักดิ์ศรี” ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านและชุมชนของตนเองได้อย่างอิสระพร้อมได้รับการดูแลที่จำเป็นจากเครือข่ายทางสังคมเดิมของพวกเขา

                    ขณะที่ นายทวาย คงคา ตัวแทนภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุ กล่าวว่า ผู้สูงอายุหลายคนมักรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระต่อผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและแยกตัวจากสังคม การมีวันผู้สูงอายุสากลจึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงคุณค่าและบทบาทของตัวเองในสังคม พวกเขาสามารถเป็นพลังสำคัญที่มีคุณค่า และยังคงมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมได้

                    สสส. เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงวัยได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงแต่เป็นการเฉลิมฉลองวันผู้สูงอายุสากล แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่ทุกคนได้รับการยอมรับ มีคุณค่า และมีโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ งานนี้จึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นในการสร้างพื้นที่สุขภาวะ และ คุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างยั่งยืน สืบไป

Shares:
QR Code :
QR Code