‘สูงวัยสร้างเมือง’ ด้วยปฏิบัติการ 5 อ. เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
หน้าตาของสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนไปตามสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนทำงานที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกำลังกลายไปเป็นกลุ่มคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยการดูแล
"สูงวัยสร้างเมือง" ด้วยปฏิบัติการ 5 อ. เป็นหนึ่งในกิจกรรมขับเคลื่อนเพื่อมุ่งหวังให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ช่วยกันจัดขึ้น พร้อมด้วยสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 65 แห่ง เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์สร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และคาดว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด "น.ส.ดวงพร เฮงบุญยพันธ์" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. เล่าให้ฟังว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสังคมสูงวัย สสส.จึงได้ทำโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยตั้งเป้ามีศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาระบบผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นอย่างน้อย 50 แห่งทั่วประเทศภายใน 1 ปีนับจากนี้
ขณะเดียวกัน การรณรงค์เพื่อเปลี่ยนมุมมองผู้สูงอายุจากภาระเป็นพลัง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศ หรือ "สูงวัยสร้างเมือง" ตามหลักปฏิบัติการ 5 อ. ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดย น.ส.ดวงพรอธิบายว่า หลัก 5 อ. คือ 1.อาหาร คือ ผู้สูงอายุกินอาหารดี ปลูกเอง ปรุงเองและแบ่งปัน 2.ออกกำลังกาย เน้นกิจกรรมทำเองที่บ้าน หรือรวมกลุ่มเป็นประจำ 3.อาชีพ สร้างอาชีพตามความถนัดที่เป็นต้นทุนชีวิตของผู้สูงวัย 4.ออม กระตุ้นให้เกิดการเก็บออมในกองทุนสวัสดิการต่างๆ และการออมความดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้ชุมชน และ 5.อาสา การทำงานในกลุ่มพื้นที่ ช่วยเหลือกันตามความสามารถ เพื่อให้เกิดความรักสามัคคีในชุมชน
ในส่วนของการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ "สมคิด สมศรี" อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พม. แสดงทัศนะว่า การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุ และพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจะส่งเสริมให้ความรู้ ทักษะและอาชีพที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ พร้อมเร่งผลักดันให้สถานประกอบการมีแผนการจ้างงานผู้สูงอายุ
ด้าน "พ.ญ.ทัศนีย์ เอกวานิช" ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. ให้ข้อมูลว่า ได้จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เป็นเงิน 600 ล้านบาท มีเป้าหมายดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงครอบคลุม 100,000 คนทั่วประเทศ โดยจะจัดสรรให้สถานบริการ 100 ล้านบาท และจัดสรรให้ อปท. 500 ล้านบาท ซึ่งหน่วยบริการในสังกัดของ สปสช. พร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือดำเนินการโครงการนี้ต่อไป
ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อรับมือสังคมสูงวัยของไทย ดังเช่นบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) "สุบรรณ ผ่องกมล" นายกเทศมนตรี ต.วัฒนา อ.ส่องดาว จ.สกลนคร เล่าให้ฟังว่า ได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ อาทิ หลักสูตรการทำดอกไม้จันทน์ การทอเสื่อ หลักสูตรงานหัตถกรรมถักตะกร้าจากเชือกร่ม การทำลูกประคบสมุนไพร โดยเมื่อฝึกอบรมจนมีความชำนาญและผ่านเกณฑ์ ก็จะให้ผู้สูงอายุรับงานไปทำที่บ้านและจะรับซื้อทั้งหมด เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และได้บุญด้วย
ปิดท้ายกันที่ "ผจญ พูลด้วง" นายก อบต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ สสส. เผยว่า เรามีการเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยเน้นการอบรมวิชาชีพแขนงต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน มีการจัดวิทยากรมาให้ความรู้และฝึกสอน การถ่ายทอดภูมิปัญญาต่างๆ ของชาวบ้าน ซึ่งสร้างรอยยิ้ม ความสนุกสนานผ่อนคลายแก่ผู้สูงอายุ รวมถึงสร้างรายได้ในยามว่าง เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคม
ผู้สูงวัยไม่ใช่ภาระของสังคม แต่เป็นโอกาสในการสร้างสังคมที่ดีกว่า เชื่อว่าปฏิบัติการ 5 อ. จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่ให้ผู้สูงอายุ ได้แสดงศักยภาพอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นพลังร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไป