สุรา ยาเมา พิษภัยล่อลวงเยาวชน
ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ แต่หลายอย่างในชีวิต ไม่ต้องลอง เราก็รู้ว่าจะลงเอยอย่างไรในหมู่เยาวชน เราทราบกันดีว่า เรื่องท้าทาย คือ การได้เดินออกนอกลู่นอกทางบ้างพอให้มีสีสันในชีวิต แต่การก้าวพลาดในบางครั้งหมายถึงการไม่มีโอกาสได้กลับไปสู่หนทางที่ควรจะเป็นอีกเลย
ยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารกระจายกันทั่วถึงในวงกว้างอย่างรวดเร็ว การทำตามกระแสของนักเรียนนักศึกษาวัยอยากทดลองจึงเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ไม่เพียงแต่วิธีการสื่อสารเท่านั้นทีปรับตัวตามโลกยุคใหม่ กระบวนการหลอกล่อให้เยาวชนติดกับก็ปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน จนหลายคนเกิดคำถามว่า เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่ "ร้านเหล้าอยู่ใกล้สถานศึกษา" และ "ยาแก้ไอเป็นส่วนผสมของยาเสพติด"
สถานศึกษา "แหล่งลูกค้า" ของร้านเหล้า
ด้วยความที่มีการรณรงค์ให้คนทั่วไป "เลิกเหล้า เลิกยา เลิกบุหรี่" กันอย่างกว่างขวาง จำนวนคนที่ติดอบายมุขลดลงเท่าไร หมายถึงจำนวนรายได้ที่ผู้ประกอบการต้องเสียไปมากเท่านั้น จึงเป็นที่มาของนโยบายเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีวุฒิภาวะต่ำกว่าผู้ใหญ่ แต่มีความอยากรู้อยากลองเป็นที่ตั้งร้านจำหน่ายสุราจึงย้ายทะเลมาเปิดให้บริการใกล้กับสถานศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่มาของการทะเลาะวิวาทที่เป็นข่าวดังในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้มีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่จะผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมร้านจำหน่ายสุราใกล้สถานศึกษา จนกระทั่งเมื่อ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม
ในครั้งนั้น ที่ประชุมพิจารณาประเด็นเรื่องการป้องกันปัญหาไม่ให้เยาวชนและนักศึกษาดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท รวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆ โดยระยะแรกจะกำหนดบริเวณไม่ให้มีสถานประกอบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับนักศึกษาในระยะทาง 300 เมตร รอบสถานศึกษา ตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยจะออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากประกาศ โดยจะรวมถึงร้านขายของชำและร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่รวมโรงแรมที่มีบริการให้กับผู้ใช้บริการ และบริเวณที่กฎหมายให้เป็นพื้นที่ยกเว้น เช่น พัฒพงษ์ รัชดาภิเษก และเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นต้น และร้านค้าขายส่งสินค้าหรือบริเวณเก็บสินค้าเพื่อขายส่ง
ทั้งนี้ การกำหนดบริเวณห้ามขายแอลกอฮอล์นั้น จะเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวะศึกษา ส่วนโรงเรียนทั่วไปยังไม่มีการกำหนดห้ามขาย ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีข้อเสนอให้กำหนดระยะห่างจากสถานศึกษา 1,000 เมตร
แม้จะเป็นกรอบมาตรการที่เรียกเสียงวิจารณ์ไม่น้อย แต่ถือเป็นก้าวแรกในการรับมือกับปัญหาที่หลายองค์กรน้อมรับ รวมทั้ง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)ในสังกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เห็นว่าการที่องค์กรและเครือข่ายเยาวชนผลักดันเรื่องนี้มาตลอด 7 ปี ถือว่าไม่สูญเปล่า
ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ตระหนักถึงปัญหาของเยาวชนไทยที่กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดย มีอายุต่ำลง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆตามมาเป็นลูกโซ่
ข้อมูลจากนักวิจัยโครงการวิจัยการกระจายตัวของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ new)108 เคยนำเสนอในฉบับ 10 มิถุนายน 2558 ระบุว่าสถานจำหน่ายขยายตัวเพิ่มจาก 1,448 ร้านในปี 2552 เป็น 2,869 ร้านในปี 2557
สูตรผสมยาแก้ไอ อันตรายของ "วัยระเริง"
คลิปนักเรียนหญิงตกลงไปริมตลิ่งใต้สะพานภูมิพล หลังจากกินโปรโคดิลผสมยาทรามาดอล 40 เม็ด จนเกิดอาการชักเกร็งสะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อเยาวชนในชุดนักเรียนมักจะจับกลุ่มทดลอง "ของเล่น" ตามกระแสวัยรุ่น
ที่ผ่านมา มีความพยายามกระจายข่าวแจ้งเตือนเรื่องการเสพยาสูตรพิสดาร เช่น ที่นำยาแก้ไอมาผสมเครื่องดื่มและส่วนผสมอื่นๆ ที่เรียกกันว่า "4×100" ภาพที่เด็กหญิงคนดังกล่าวถูกนำส่งโรงพยาบาลในสภาพชักเกร็งอาจจะช่วย "ดึงสติ"เยาวชนที่อยากจะเลียนแบบให้ฉุกคิดก่อนละดำเนินรอยตาม
ยาดังกล่าวระบาดในกลุ่มวัยรุ่นอย่างหนักในช่วงสองามปีที่ผ่านมา
ในเวทีเสวนาหัวข้อ "ยาแก้ไอผสมโค้ก 4×100 เหล้าปั่นทำลายเยาวชน จะหยุดมันอย่างไร" วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ผศ.ดร.นิตยาวรรณ กุลณาวรรณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า สูตรของยาแก้ไอชนิดนี้มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ลดอาการภูมิแพ้ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการมึนงงขาดสติ สนุกสนาน กล้าแสดงออก หากขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ที่เยาวชนหันมาเสพกันมา เพราะอาจจะมองว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ไม่ใช่สารเสพติด หาซื้อได้ง่าย ขณะที่หากมีการผสมยาจำพวกที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทแล้ว ยิ่งจะทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้มากขึ้น และหากรับประทานในปริมาณที่มากอาจถึงแก่ชีวิตได้
เดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว คณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องการตรวจสอบร้านขายยาที่จำหน่ายยาน้ำแก้ไอให้กับวัยรุ่นนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำไปผสมเป็นยาเสพติดประเภท 4×100
โดย อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมาตรการเข้มงวดกับการควบคุมการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอตามร้านขายยาทุกแห่งทั่วประเทศ และได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดให้ออกตรวจสอบร้านขายยา อย่างต่อเนื่องและเข้มงวด ตามประกาศฯ เรื่อง การควบคุม การจำหน่ายยาน้ำแก้ไอที่มีไดเฟนไฮดรามีน หรือ โปรเมทาซีน หรือ เดกซ์โตรเมธอร์แฟน เป็นส่วนประกอบโดยจำกัดปริมาณการจำหน่ายจากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขาย ไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 3 ขวด เพื่อป้องกันการนำยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์
ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดกรณีนักเรียนหญิงชักจากการเสพโปรโคดิลเกินขนาด เพจ ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว ได้เผยแพร่คำเตือนที่ภายหลังมีการส่งต่อกันทางโลกออนไลน์ โดยสรุปใจความได้ ดังนี้ "โปรโคดิล" เป็นยาอันตรายที่ออกฤทธิ์ให้ถึงตายได้ ประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ promethazine hydrochloride มีข้อบ่งใช้คือ บรรเทาอาการแพ้ ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
"ผลข้างเคียงในการใช้ยาโปรโคดิลคือ เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อการกดการหายใจ นำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งจนเกิดความเจ็บปวด นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการเพ้อหรืออาการสับสนฉับพลัน รวมถึงมีโอกาสเกิดชักเกร็งกระตุกแบบ GTC หรืออาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว อันเป็นอาการชักที่รุนแรงที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติได้อย่างรวดเร็ว คนไข้อาจเกิดหัวใจเต้นเร็วและเกิดความดันต่ำ และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือภาวะอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดยยาโปรโคดิลมีพิษแบบที่ยิ่งกินมากยิ่งเป็นอันตราย"
เมื่อรู้ถึงพิษภัยอย่างนี้ เยาวชนไทยควรต้อง "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" อย่าคิดลองอะไรที่เห็นอยู่แล้วว่าเป็นโทษ เพื่อจะได้ไม่ก้าวพลาดแบบตัวอย่างที่เกิดขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์นิวร้อยแปด