สุนัข-แมวกัดหรือข่วน เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า
ที่มา : กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า แม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเอง มีแผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลือดออกที่แผล ก็อย่าชะล่าใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เจ้าของต้องดูแลและนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี และไม่ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงออกนอกบ้าน พร้อมแนะวิธีลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีรายงานข่าวว่าพบเหตุการณ์ที่สุนัขกัดคนหลายเหตุการณ์ ทั้งที่กัดคนที่ไม่รู้จักและกัดเจ้าของสุนัขเองนั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งที่เป็นสุนัขของตนเองและสุนัขจรจัดที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ สุนัขบางสายพันธุ์ เช่น พิทบูล บางแก้ว เป็นสายพันธุ์ที่ดุเพราะมีนิสัยที่หวงเจ้าของ หวงของหรืออาณาเขต จึงขอให้เจ้าของดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเองอย่างใกล้ชิด ระวังไม่ให้ถูกสุนัขกัด ควรผูกไว้หรือขังในกรงให้ดี และไม่ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงหลุดออกนอกบ้าน เพราะอาจไปกัดคนในละแวกใกล้เคียงได้
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบบ่อยที่สุด คือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและโค โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน
นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรปฏิบัติ ดังนี้ 1.เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านโดยไม่ใส่สายจูง 3.พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมันเมื่อไม่ต้องการให้มีลูก รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทำหมันสุนัข/แมวที่ไม่มีเจ้าของ และ 4.ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลักคาถา 5 ย. คือ 1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2) อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ
ทั้งนี้ ประชาชนที่ถูกสุนัขหรือแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข ลูกแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเอง มีแผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลือดออกที่แผล ก็อย่าได้ชะล่าใจ ต้องรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบชุด คือ เมื่อถูกสุนัขกัด ห้ามบีบเค้นบาดแผล ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ล้างเบาๆ นานอย่างน้อย 10 นาที จากนั้นใส่ยาเบตาดีน และ กักสุนัข/แมวที่กัดเพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนชนิดนี้ต้องได้รับหลายครั้ง จึงขอให้ไปตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422