สุนทรียะทางศิลปะเพื่อคนพิการ เปิดโลกเงียบของคนหูหนวก

สสพ. จัดโครงการ “สุนทรียภาพทางศิลปะเพื่อคนพิการ” สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างน้องๆ หูหนวกจากโรงเรียนโสตศึกษาปราจีนบุรี นักศึกษา และศิลปิน ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบร่วมสมัย

สุนทรียะทางศิลปะเพื่อคนพิการ เปิดโลกเงียบของคนหูหนวก

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ได้สนับสนุนโครงการ “สุนทรียภาพทางศิลปะเพื่อคนพิการ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนพิการ นักศึกษา และศิลปิน ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบร่วมสมัย ได้เปิดให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง (วิทยาลัยเพาะช่าง) จำนวน 15 คน ร่วมสร้างงานศิลปะบนผืนผ้าใบกับน้องๆ หูหนวกจากโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 20 คน โดยมีศิลปิน ได้แก่ นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ, นายวิรัตน์ คำนิ่มนวล, นายอภิวัฒน์ ชิตะปัญญา, นายสันติ วงใหญ่ และนายอนันต์ แซ่โง้ว เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงให้คำแนะนำด้านเทคนิคและการสร้างสรรค์ผลงาน  

สุนทรียะทางศิลปะเพื่อคนพิการ เปิดโลกเงียบของคนหูหนวกการทำงานศิลปะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักเรียนนักศึกษาศิลปะ แต่การร่วมกันทำงานศิลปะระหว่าง “คนหูดี” กับ “คนหูหนวก” เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง กระบวนการเริ่มต้นขึ้นโดยให้การจับคู่กันระหว่าง “น้องหูหนวก” กับ “พี่หูดี” มีกระดาษกับดินสอเป็น “สื่อกลาง” ทำความเข้าใจ น้องพี่ผลัดกันถาม พี่น้องผลัดกันเขียนตอบ หาแนวทางที่จะ “พา” จินตนาการออกมาจากโลกไร้เสียงของ “น้องหูหนวก”

แต่แล้วการเขียนก็ไม่ไวพอจะจับอารมณ์ความรู้สึกที่โพยพุ่งออกมา หลายคู่จึงวางกระดาษดินสอ หันมาทำท่าทางสื่อความหมายให้ได้ตรงหรือใกล้เคียงกับใจต้องการ แม้พี่ๆ จะไม่รู้ภาษามือ แต่การสังเกตมือไม้ที่เคลื่อนไปมาเลียนแบบรูปทรงต่างๆ พร้อมกับการแสดงสีหน้าอาการประกอบ ทำให้หลายคนสามารถเดาความหมาย ค่อยวาดเค้าโครงบางเบาลงบนกระดาษเปล่า หันสบตาขอคำตอบว่าใช่หรือไม่ แล้วช่วยกันลงมือสร้างสรรค์งานกันออกมา

โจทย์แรกเป็นการวาดภาพตามความสนใจ ซึ่งช่วยสะท้อนความคิดติดตัวมา แต่วัตถุประสงค์ที่ซ่อนไว้มากกว่านั้นอยู่ที่การเริ่มเรียนรู้ทำความรู้จักกัน ผลงานที่วางคู่กับกระดาษถามตอบ ทำให้เห็นว่า ภายในคู่พี่น้องแต่ละคู่ไม่ได้คุยเฉพาะงานที่ต้องทำร่วมกัน แต่คุยเรื่อยไปถึงเรื่องราวชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย กิจกรรมต่อมาศิลปินพี่เลี้ยงแนะนำเทคนิกพื้นฐานเพื่อการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นการขูด โรย หยด พ่น บีบ ปาด แปะ ฯ ซึ่งพี่หูดีรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ตรงข้ามกับน้องหูหนวก เพราะเทคนิกเหล่านี้น่าตื่นเต้น แปลกใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการทำงานศิลปะในห้องเรียน ที่จำกัดเพียงการวาดและลงสีสร้างภาพขึ้นมา

สุนทรียะทางศิลปะเพื่อคนพิการ เปิดโลกเงียบของคนหูหนวก

ครูเสรี รอดพันธ์ ครูผู้สอนศิลปะโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี เล่าผ่านล่ามภาษามือว่า การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้เทคนิกและการสร้างงานศิลปะในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ที่ผ่านมาในชั่วโมงศิลปะแต่ละครั้งก็เพียงให้โจทย์แก่นักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่หัวข้อที่กำหนดจะเป็นรูปธรรม เช่น บ้าน ดอกไม้ ต้นไม้ โรงเรียน หรือในหลวงของเรา บางครั้งก็ให้คัดลอก เลียนแบบ หรือวาดตามภาพต้นแบบให้เหมือนที่สุด

“การทำงานศิลปะครั้งนี้ ทำให้เห็นตัวตนของเด็กแต่ละคน พวกเขามีจินตนาการเป็นของตัวเอง สามารถแสดงจินตนาการนั้นออกมาได้หลากหลาย เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ไม่น่าเชื่อว่า ทุกคนจะหยิบจับเอาสิ่งต่างๆ รอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะของตัวเอง ทุกๆ งานเหมือนกับได้ค้นพบจินตนาการที่เป็นของเขาเองจริงๆ คิดว่า ต่อไปจะนำกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ไปใช้ในชั่วโมงศิลปะที่โรงเรียน”

สุนทรียะทางศิลปะเพื่อคนพิการ เปิดโลกเงียบของคนหูหนวก

ศรราม หิรัญเกื้อ หรือ “แมน” เด็กชายหูหนวก เจ้าของผลงานภาพสามมิติที่พยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เห็นถึงความเกื้อกูลอย่างง่ายว่า “ถ้าไม่มีต้นไม้ ก็ไม่มีชีวิต” แมนบอกว่า เขาสร้างผลงานจากธรรมชาติและความรู้สึกที่มีต่อธรรมชาติ เป็นความสนุกที่ได้นำสิ่งต่างๆ รอบตัวมาใช้ทำงาน โดยมีพี่คู่หูคอยให้ความช่วยเหลือ ร่วมทำงานให้จินตนาการออกมาเป็นรูปธรรมตรงหน้า

สุนทรียะทางศิลปะเพื่อคนพิการ เปิดโลกเงียบของคนหูหนวกทำงานศิลปะด้วยกันสนุกดี พี่เขาคอยช่วย ได้พัฒนาทักษะทางศิลปะ และทำให้ภาษาไทยดีขึ้นด้วย เพราะต้องเขียนสื่อสารกัน ปัญหาก็มีบ้างเพราะเราไม่ได้ยิน วาดรูปก็ยังไม่สวย พี่ๆ เขาใจดี ช่วยแนะนำ ตอนทำงานก็ช่วยกันคิด จินตนาการเป็นของเรา แต่มีพี่เขาช่วยสร้างมันออกมา เป็นงานศิลปะรูปแบบใหม่เพราะไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน จะช่วยพัฒนาตัวผมเองมากขึ้น

ปารณัท โสนน้อย หรือ “นิว” ฝ่ายพี่หูดี บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับคนหูหนวก ตอนสมัครเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เขาคิดว่า จะเจอกับคนพิการด้านการเคลื่อนไหว แต่พอเจอกับคนหูหนวก ซึ่งไม่สามารถสื่อสารตามรูปแบบปกติ ทำให้ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้สามารถร่วมกิจกรรมกันได้ นิวบอกว่า การใช้ภาษามือสื่อสารกัน แม้จะยังเป็นภาษามือง่ายๆ เพื่อการใช้งานเฉพาะหน้า เช่น เรื่องสีต่างๆ เทคนิกทางศิลปะ นับเป็นโอกาสดี หากมีเวลาได้ศึกษามากขึ้น เมื่อเขาเป็นครูสอนศิลปะ จะได้มีลูกศิษย์ทั้งหูดีและหูหนวกต่อไป

คู่หูของผม เขาตั้งใจมาก มีพัฒนาการที่ชัดเจน จากแรกๆ ที่กล้าๆ กลัวๆ พอทำงานหลายชั่วโมงด้วยกัน เขามั่นใจมากขึ้น เห็นจากการหยิบจับอุปกรณ์ เทคนิกที่หลากหลาย แล้วก็การให้สีสด กระบวนการศิลปะได้ช่วยเปิดเผยตัวตนของน้องให้เป็นอิสระมากขึ้น จากที่เหมือนถูกปิดกั้น จนเป็นความรู้สึกกลัว ไม่แน่ใจ และกังวล เอางานชิ้นแรกสุดมาเทียบกับงานช่วงท้ายๆ ต่างกันมาก เขาได้แสดงออกอย่างเต็มที่ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีจินตนาการที่น่าสนใจ

สุนทรียะทางศิลปะเพื่อคนพิการ เปิดโลกเงียบของคนหูหนวก

ผลงานศิลปะจะได้รับการคัดเลือกและนำมาจัดแสดงร่วมกับผลงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการ “เปลี่ยนโลกให้เข้ากับเรา” (make the world fit for all) ซึ่งมีกำหนดจัดงานช่วงเดือนตุลาคมนี้
 

ที่มา: สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ

Shares:
QR Code :
QR Code