สุขไหลย้อน จากการพัฒนายุวกระบวนกร
กิจกรรมพัฒนายุวกระบวนกร ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ที่พยายามสร้าง ยุวกระบวนกร ให้เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้สุขภาวะทางปัญญา ในระดับชุมชนหรือกลุ่มของตน ได้ก่อให้เกิดความคาดหวังขึ้นพอสมควรแก่กระบวนกร ผู้จัดกระบวนการฝึกอบรม ส่งผลโดยตรงต่อการสูญเสียพลังในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากสภาวะของการติดตามเพื่อให้ความเห็นในการฝึกฝนการจัดกิจกรรมของเยาวชนกลุ่มต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 19 รอบ ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปเพียง 3 วัน
การหายไปของพลัง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการทบทวนภายใน จึงได้พบกับจุดติดยึดสำคัญของอัตตาในใจตน (กระบวนกร) ที่มีความตั้งใจอยากให้ อยากเติม ให้เกิดยุวกระบวนกร ที่สามารถจัดกระบวนการสร้างการเรียนรู้ได้ ตั้งคำถามพากลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบทเรียนหรือเงื่อนไขการเรียนรู้ได้ จนมองไม่เห็นความงดงามที่เกิดขึ้นต่อแกนนำเยาวชนที่กำลังผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป คอยติดตามรับฟังความเห็นจากเพื่อนๆ จากลุงและป้า ไปปรับกิจกรรมอย่างไม่ยอมเหน็ดเหนื่อย
พลังกลับมา เมื่อหาจุดติดยึดพบ พร้อมไปกับการเห็นภาพความสำเร็จรายทางที่เกิดขึ้นมากมาย เริ่มจาก วิท หนุ่มน้อยชาวปกาเกอะญอ จากโรงเรียนบ้านทุ่งแก ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ผู้นำทีม ซึ่งประกอบด้วย วิ มิตร และมิ้น นำกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ให้เพื่อนๆ เข้าถึงบทเรียนเรื่องการสังเกต และการใช้ไหวพริบในการบอกใบ้เพื่อทำภารกิจร่วมกัน ซึ่งมีการพาเพื่อนๆ เล่นกิจกรรมเตรียมความพร้อมด้วยเกมลมเพ-ลมพัด และตั้งคำถามถอดบทเรียนจากการทำกิจกรรม เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้สึกของเพื่อนๆ สิ่งที่เพื่อนได้เรียนรู้ และแง่มุมในการนำบทเรียนจากกิจกรรมไปใช้ประโยชน์ในชีวิต
อีกกลุ่มหนึ่งคือ มายและทีม ซึ่งมีทุนเดิมในการนำเกมสันทนาการ สร้างความสนุกสนานได้อย่างมีพลัง ในการนำเพื่อนๆ ทำกิจกรรมครั้งแรกๆ ก็ยังมีความพยายามปรับคำ ปรับท่าทางในการเล่นเกมอยู่ไม่น้อย ในการนำเพื่อนๆ ทำกิจกรรมรอบหลังๆ ซึ่งสามารถหยิบยกขึ้นมาสร้างเป็นบทเรียนที่ดีได้
นอกจากนี้ยังมีทีมเม จากโรงเรียนสาธิตสมเด็จย่าฯ ทีมออย จากโรงเรียนแม่แจ่ม ทีมมิน จากหอพักแม่ปุ๊ ซึ่งทุกๆ ทีมมีพัฒนาการอย่างเด่นชัด ทั้งในด้านการออกแบบการเรียนรู้ เลือกวัตถุประสงค์ เลือกเกม วางแผน แบ่งหน้าที่กันทั้งในส่วนของการจัดกิจกรรม และการตั้งคำถามค้นหาบทเรียน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ใหม่ของแกนนำเยาวชนกลุ่มนี้ มีแง่มุมมากมายเหลือเกิน ที่สามารถหยิบยกมาเป็นบทเรียนร่วมกันได้อย่างมีพลัง ทั้งต่อกระบวนกรผู้จัดกระบวนการ และแกนนำเยาวชน ให้เกิดการเรียนรู้จากการผ่านประสบการณ์ตรง และแบ่งปันสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนายุวกระบวนกร
การเปลี่ยนแปลงที่มองไม่เห็น พัฒนาการที่เกิดขึ้นต่อแกนนำเยาวชนทีมต่างๆ เนื่องจากความต้องการของตน ทำให้ไม่สามารถหยิบเอาบทเรียนอันงดงามดังกล่าว ให้เป็นบทเรียนแห่งการเรียนรู้ได้อย่างเป็นปัจจุบัน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่นับว่ายังเป็นความโชคดีของกระบวนการใคร่ครวญภายในที่ยังใช้งานได้อยู่ จึงเกิดสติคิดได้ว่า “หากใช้มุมมองในลักษณะมุ่งหาความผิดพลาดหรือสิ่งที่ยังขาด เพื่อเติมเต็มให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการพัฒนาทักษะ จะส่งผลให้เราและกลุ่มเป้าหมายหมดพลังลงเรื่อยๆ”
แต่ในทางกลับกัน หากปรับมุมมองให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวกลุ่มเป้าหมาย แล้วชวนย้อนไปดูแรงจูงใจที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ น่าจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพลังขับเคลื่อน การสร้างบทเรียนด้านสุขภาวะทางปัญญาแก่แกนนำเยาวชนได้ อย่างน้อยการปรับมุมมองเช่นนี้ ก็ส่งผลให้เกิดพลังความสุข และเกิดความพร้อมที่จะแบ่งปันบทเรียน จากกระบวนกรผู้จัดกระบวนการสุขแท้ด้วยปัญญา ที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
ที่มา: เครือข่ายสุขแท้ด้วยปัญญาภาคเหนือตอนบน