สุขภาวะองค์กรคืออะไร

หลายเวทีที่พูดถึงความสุขในองค์กร มักมีการพูดถึงสุขภาวะ แต่พอถามถึงว่าสุขภาวะองค์กรคืออะไรก็ค่อนข้างจะตอบยากทีเดียว วันก่อนได้ฟังนายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กรภาคเอกชนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ happy workplace และทำต่อเนื่อง มายาวนานกว่า 7 ปีแล้ว พูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงขอนำมาขยายต่อ เพราะดูเหมือนว่าจากนี้ไปเราจะได้ยินคำนี้บ่อยขึ้น

สุขภาวะองค์กรคืออะไร

สุขภาวะองค์กร คือ สุขภาพมิติใหม่ ซึ่งมีองค์ประกอบมากกว่า 2 อย่างคือ ไม่ใช่เพียงเรื่องของกายและใจเท่านั้น แต่จะต้องมีเรื่องสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เห็นชัดเจนในหลายปีที่ผ่านมาที่เกิดน้ำท่วม ภัยพิบัติต่างๆ จะเห็นว่าเรื่องของการสร้างพนักงานของเราให้มีความเก่ง และมีประสิทธิภาพ แข็งแรง ไม่ใช่มีเพียงมิติแค่ว่ามีการส่งเสริมให้พนักงานมีอาหารที่ดี มีการออกกำลังกายที่ดี แต่หมายถึงส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน

ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ สำหรับความท้าทายของการสร้างสุขภาวะองค์กร หรือการสร้างสุขภาพมิติใหม่ ในโลกยุคใหม่นี้ คุณหมอชาญวิทย์ ระบุว่า อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย รวดเร็ว อันส่งผลทำให้ระยะห่าง ความแตกต่างของคนต่าง generation นั้นลดลง

“สมัยก่อนเจเนอเรชั่น 30 ปี จะเห็นคนต่างกัน แต่วันนี้อาจจะแค่ห่างกัน 5 ปี ก็เห็นความต่างกันแล้ว บางคนอาจจะปีเดียวก็ได้ครับ คือหมายถึงว่าถ้าหากว่าลูกเราเกิดปีนี้ ลูกคนต่อมาเกิดอีกปีหนึ่ง โตมาสองคนนี้ไม่เหมือนกันเลยก็ได้เพราะว่าความเร็วของเทคโนโลยี ความเร็วของสังคมที่มันมีความเปลี่ยนแปลง นี่คือที่มาขององค์กรสุขภาวะ ถ้าเราต้องการให้องค์กรของเรามีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงาน เราจะต้องเข้าใจในเรื่องมิติสังคมมากขึ้น” คุณหมอชาญวิทย์ กล่าว

ส่วนแนวทางที่ควรจะนำมาใช้ในการสร้างสุขภาวะองค์กร ควรจะมีเครื่องมืออะไรเพิ่มเติม คุณหมอชาญวิทย์ ระบุว่า สามารถใช้แนวทางในการสร้างสุข 8 ประการ ที่ สสส. ได้พัฒนาขึ้นมาก่อนนี้ ในการพัฒนาคนในองค์กร เนื่องจากความสุขทั้ง 8 นั้น ทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงแต่จัดเรียงไม่สมดุล หน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็คือ จัดเรียงความสุข ทั้ง 8 ของคนในองค์กร ให้สมดุลเท่านั้น ซึ่งคุณหมอได้กรุณา อธิบาย ความสุข ทั้ง 8 ให้เข้าใจ ง่ายๆ ดังนี้

มีความสุขด้านสุขภาพ เรียกว่า happy body มีความสุขกับการอยู่กับคนอื่น เรียกว่า happy heart มีความสุขกับการดูแลความเครียด ความทุกข์ การจัดการชีวิตตัวเองได้ เรียกว่า happy relax เราสามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถของตัวเองได้ เรียกว่า happy brain เรารู้สึกว่าเราเก่งขึ้น เรามีจิตใจดีขึ้น เรารักคนอื่นเป็นมากขึ้น เรารู้สึกว่าเราเป็นคนมีธรรมะมากขึ้น เรียกว่า happy soul

happy workplace

เรามีเงินเหลือ มีความมั่นคงทางการเงิน เราจัดการได้ เรียกว่า happy money อยู่กับครอบครัว รับผิดชอบต่อครอบครัว ทำให้ครอบครัวอยู่แล้วมีความสุข เรียกว่า happy family ส่วน happy society คือ ความสุขในการอยู่ร่วมกับคนองค์กร ในที่ทำงาน ในสังคมที่เราอยู่

สำหรับกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรนั้น คุณหมอชาญวิทย์ บอกว่า ปัจจัยที่สำคัญและยากทีเดียว แต่ต้องทำให้ได้ ก็คือ การปรับหลักคิด ถ้าผู้บริหารองค์กรปรับหลักคิดได้ วิธีการก็จะเปลี่ยน จากนั้นการสร้างความสัมพันธ์ก็จะเปลี่ยน ดังเช่นหลายองค์กร มีหลักคิดว่า ทุกคนเหมือนเพื่อนร่วมงาน เหมือนพี่น้อง การพูดการจา การดูแลระหว่างกันก็จะแตกต่าง จากคนที่มองว่าพนักงาน คือคนทำงาน

เราทำงานนี้มาประมาณ 7 ปีแล้วน่ะครับเราพบว่ามีองค์กรที่น่าสนใจเยอะแต่เขาไม่เคยมีเวทีมาทำให้คนอื่นเห็นว่าการที่เขาอยู่กันได้มาเป็น 20-30 ปีเขาใช้หลักคิดการอยู่กันแบบพี่น้อง แบบครอบครัว การให้เกียรติซึ่งกันและกัน และการมีความภักดีให้แก่กัน ซึ่งมีตัวอย่างองค์กรที่มีหลักคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ องค์กรก็มีความสุข กิจการก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้น สสส. จึงมีความคิดว่าจะขยายแนวคิดออกไปให้มากขึ้น ซึ่งจากนี้ไปจะมีความจำเป็นและสำคัญมาก เมื่อประชาคมอาเซียนมาถึง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างๆ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรอย่างมากมาย โดยขณะนี้ กำลังมีความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำเรื่องนี้อยู่

เรื่อง: พิมพร ศิริวรรณ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code