“สุขภาวะ”ที่อุตรดิตถ์ “อจ.น.ศ.”ร่วมออกกำลังกาย
เพื่อการพัฒนาความสุขที่ยั่งยื่น
ปัจจุบันทุกคนต้องเผชิญกับปัญหาทั้งด้านอบาย มุข เครื่องดื่มแอล กอฮอล์ สารเสพติด ความไม่ปลอดภัยจากการขับขี่รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ การบริโภคอาหาร ฯลฯ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง
รวมไปถึงปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“โครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์” จึงถือกำเนิดขึ้นมา
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนในสถาบันมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของคำว่า “สุขภาวะ” เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ส่งเสริม สนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์อย่างมีส่วนร่วม” คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ.) ได้ประกาศเป็นนโยบายสุขภาวะและกำหนด 8 มาตรการเพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานซึ่งประกอบไปด้วย
1) การประกาศนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัย
2) การสร้างกระแสการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่บุคลากร
3) การพัฒนาสภาพแวดล้อม
4) พัฒนาระบบการให้บริการและสวัสดิการของมหาวิทยาลัย
5) จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้,
6) สนับสนุนการจัดกิจกรรมของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย
7) สร้างเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
8) การค้นคว้าวิจัยและการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อการจัดการองค์ความรู้
ผศ.ดร.สัมพันธ์ รอดพึ่งครุฑ รองอธิการบดี มรอ. และหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการว่า คือการส่งเสริมด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสังคมที่ดี ที่จะเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ
“เราเน้นการสร้างกระแสในเรื่องสุขภาวะ โดยผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย มีการสร้างศูนย์ออกกำลังกายกลางแจ้งเพิ่มเพื่อเอื้อต่อการออกกำลังกาย มีบริการตรวจสุขภาพ จัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายจากภายนอก นอกจากนี้ เรายังมีมาสคอตชื่อว่าสุขใจซึ่งจะใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น รณรงค์ยาเสพติด การแข่งขันกีฬา และ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าบุคลากรของเราใช้บริการสถานที่ออกกำลังกายมากขึ้น” อาจารย์สัมพันธ์กล่าว
น.ส.ณัฐกา กุลรินทร์ นักวิชาการศูนย์สุข ภาพ และผู้ประสานงานโครงการ เล่าว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อก่อนเรามีสถานที่ออกกำลังกายแต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง พอมีโครงการขึ้นเราก็เข้าไปปรับปรุงให้สามารถเอื้ออำนวยต่อการใช้งาน สมัยก่อนผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแทบจะไม่มาวิ่งออกกำลังกายเลยเพราะคิดว่าไม่สำคัญ แต่ตอนนี้เริ่มหันมาร่วมออกกำลังกายกับนักศึกษาและบุคลากรของเรามากขึ้น ทุกวันนี้มีนักศึกษาออกกำลังกายเยอะมากจนสนามที่มีอยู่แทบไม่พอ
นายอุดมชัย ทิพยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เอกสาธารณสุขศาสตร์ บอกว่า ตอนเข้ามาเรียนในปีแรกยังไม่มีโครงการนี้ นักศึกษาส่วนมากก็ไม่สนใจออกกำลังกายและแทบจะไม่เห็นอาจารย์มาออกกำลังกายเลย แต่พอมีโครงการนี้ขึ้นมาทุกคนก็เริ่มตระหนักในเรื่องของการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ทุกๆ เช้าจะมีนักศึกษาและอาจารย์ออกมาวิ่งด้วยกันเยอะมาก ซึ่งการออกกำลังกายตอนเช้าจะทำให้เราได้รับอากาศที่สดชื่นและมีพลังในการเรียนต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update: 21-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร