สุขภาพเด็กช่วงเรียนออนไลน์ สร้างได้ที่บ้าน
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากงานเสวนาออนไลน์ “ทราบแล้วเปลี่ยน” ในหัวข้อ แนวทางส่งเสริมสุขภาพเด็กในช่วงเรียนออนไลน์
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และ สสส.
“ ตื่นได้แล้วลูก ถึงเวลาเรียนแล้ว” เสียงเรียกของผู้ปกครองในทุก ๆ เช้า ที่เปลี่ยนคำว่า “ตื่นไปโรงเรียน” เป็น “ตื่นมาเรียน” เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้หลายโรงเรียนในพื้นที่ควบคุม ต้องปรับเปลี่ยนให้นักเรียนเรียนออนไลน์ที่บ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของโควิด-19 นั่นเอง แม้จะทำให้ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน ต้องมีภาระหน้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ถือว่าทำเพื่อความปลอดภัย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ การเรียนออนไลน์ น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้ดีที่สุดแล้ว
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน เปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียนจำลอง ทำให้เด็ก ๆ ได้รับผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะปกติ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ “ทราบแล้วเปลี่ยน” แนวทางส่งเสริมสุขภาพเด็กในช่วงเรียนออนไลน์ จึงเกิดขึ้น เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนหาทางออกดีที่สุดในการให้เด็กได้เรียนออนไลน์ที่บ้าน อย่างมีสุขภาวะที่ดี มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนไทย มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลกระทบสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ของเด็ก เป็นประเด็นที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก จึงต่อยอดเรื่องนี้จากการฟังเสียงสะท้อนในคลับเฮาส์ โดยพบว่าเด็ก ๆ ที่เรียนจากที่บ้านตอนนี้ ในแง่ของผลกระทบทางสุขภาพ เขาต้องมีการปรับตัวตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน โดยผลการสำรวจในช่วงเดือนที่ผ่านมา พบว่า 8 อันดับปัญหาทางสุขภาพในช่วงเรียนอยู่ที่บ้านของเด็ก ๆ ได้แก่
1.ปวดตา ปวดเมื่อย ปวดหลัง เพราะนั่งนาน เนือยนิ่ง 79.0%
2.เครียดและกังวลใจ 74.9%
3.การบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้พักผ่อนและนอนน้อยลง 71.6%
4.เบื่อหน่ายไม่อยากเรียน 68.3%
5.มีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายน้อยลง 58.0%
6.สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ขาดสมาธิ 57.2%
7.รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา 56.0%
หากพูดถึงปัญหาผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากผลสำรวจข้างต้นในการที่เด็กต้องเรียนออนไลน์นั้น นับเป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการส่งเสริมสุขภาพ เนื่องด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ทั้งในด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เรื่องเด็กเป็นงานหนึ่งที่ สสส.ได้ร่วมทำงานกับภาคีเครือข่าย เราก็มองในหลาย ๆ มิติ มิติแรก คือ มิติทางกาย เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ มิติที่สอง คือ พฤติกรรมสุขภาพ การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่เป็นเวลา การเล่น การเรียน ซึ่งพวกนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าต้องขยับให้ได้อย่างน้อยวันละ 60 นาที ในภาวะปกติเด็กไทยทำได้ 26% แต่พอมีช่วงโควิด ล็อกดาวน์ สถิติประมาณ 17% โดยรวมตัวเลขค่อนข้างน่ากลัว ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว
“ ในฐานะพ่อแม่ เราสามารถเอาการบ้านมาผนวกกับกิจกรรมและสามารถสอนลูกได้ ให้เขาเล่นไปโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่านี่คือการบ้าน ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ให้เด็กได้ขยับ มีท่ากายบริหาร และในการเรียนออนไลน์ กิจกรรมในระหว่างเรียน ครูสามารถทำให้เด็กไม่นั่งเรียนอย่างเดียวได้ ถ้าครูได้เปลี่ยนรูปแบบการสอน ให้เล่นเกม ให้ลุกนั่ง ขยับ มีช่วงพักเบรกให้เด็กได้วิ่งเล่น เดินไปเข้าห้องน้ำบ้าง เพราะการส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย มีหลักฐานทางวิชาการชัดว่าการให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกาย จะทำให้มีสติปัญญาดีขึ้นอย่างชัดเจน”
ดร. นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สสส.ช่วยกันทำคู่มือชุดความรู้ต่าง ๆ และในภาวะที่มีข้อมูลมหาศาล เราเน้นการจัดการความรู้ รวบรวมจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ผ่านนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นมาก
ด้าน ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและกุมารแพทย์ เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก กล่าวว่า ช่วงนี้ถือเป็นเป็นช่วงปรับตัวของทุก ๆ ฝ่าย คุณครูก็ต้องปรับตัวกับการสอนออนไลน์ เด็กก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อย ๆ ปรับตัว และพ่อแม่ก็เช่นกัน การที่ทำให้เด็กมีความเข้มแข็งทางใจ คือ ต้องลดความเครียดลง และพ่อแม่ให้ความอบอุ่น สื่อสารพูดคุยกับเด็ก เป็นทักษะชีวิตที่เสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหานอกจากเครื่องมือที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ หัวใจสำคัญ คือ ปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่ต้องอยู่กับลูกในเชิงบวก เด็กจะเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ก็ต้องเริ่มจากพื้นที่ที่บ้านก่อน โดย
1.พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ในด้านการเรียนรู้และในด้านการดูแลสุขภาพตนเอง
2.พ่อแม่มีหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน เพื่อให้ลูกดูแลสุขภาพได้ เช่น มีที่กระโดดเชือก มีจักรยาน
3.คุณครูต้องสอดแทรกเรื่องสุขภาพในการเรียนการสอน
4.ต้องมีนโยบายการจัดตารางเรียนให้เหมาะสม
5.จัดการระบบสื่อ
จะดีแค่ไหน หากเด็กได้เล่นอย่างสมวัย ลดภาวะพฤติกรรมเนือยนิ่ง และมีการนอนหลับที่มีคุณภาพ รวมถึงโภชนาการที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สสส.พัฒนาชุดความรู้ร่วมกับศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำ คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน สามารถปฏิบัติง่าย ๆ ที่บ้านเหมาะกับแต่ละช่วงวัยในชีวิตวิถีใหม่ ป้องกันโรคกลุ่ม NCDs สร้างภูมิคุ้มกันกระตุ้นกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน ได้ที่ http://ssss.network/amb9m