“สุขภาพดี แผนที่ช่วยได้”

เน้นเยาวชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาทักษะ

 

          นับเป็นการรวมพลังของเยาวชนจากทั่วทุกภาคที่ยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่ง สำหรับโครงการ นักสำรวจ แผนที่สุขภาพฯ พลังเยาวชนสร้างสรรค์สังคม คนธรรมดาทำงานใหญ่ได้ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต โดยสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น

“สุขภาพดี แผนที่ช่วยได้” 

          โครงการดังกล่าวถือเป็นความต่อเนื่องของโครงการแผนที่สุขภาพ โดยเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มาจากสถาบันการศึกษา 150 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จจากการสำรวจพื้นที่บริเวณรอบโรงเรียน ภายใต้แนวคิดลดพื้นที่เสี่ยง เพิ่มพื้นที่ดี ที่มุ่งเน้นให้เยาวชนรู้จักแยกแยะว่าพื้นที่ดี และพื้นที่เสี่ยงเป็นอย่างไร

 

          งานนี้นอกจากจะเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเยาวชน ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องในการทำงานแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนมากมาย ที่สำคัญมีผลงานของนักเรียนจากภาคต่างๆ ที่ต้องการประกาศให้สาธารณชนได้รู้ว่าเด็กก็สามารถทำงานใหญ่ได้ โดยมีแผนที่สุขภาพเป็นเครื่องมือ

 

          นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ที่ปรึกษากรรมการบริหารแผนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้จุดประกายโครงการบอกว่า อยากเห็นคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย จิตใจ และปัญญา เป็นผู้มีความรอบรู้ รู้จักผิดชอบชั่วดี จึงได้มีการสนับสนุนให้เกิดโครงการทำความดีเพื่อสังคมไทยขึ้น โดยส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามาเป็นแกนนำหลัก เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ช่วยเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสียงให้กับโรงเรียนและชุมชนของตนเองด้วย

 

          ด้าน ดารณี เวณุจันทร์ ประธานโครงการแผนที่สุขภาพ จากสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพิ่มเติมว่า

 

          “โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดพลังเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบ้านเกิด ด้วยจิตสำนึกท้องถิ่น และยืนหยัดอยู่ในชุมชนอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีทั้งในทางเศรษฐกิจ และได้รับการยอมรับจากสังคม ผ่านการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพ โดยใช้แผนที่สุขภาพเป็นเครื่องมือเพื่อสะท้อนภาพเล็กๆ ในแต่ละชุมชนที่พวกเราผู้ใหญ่ทุกคนน่าจะให้ความสนใจในการสร้างชุมชนที่เหมาะสม”

 

          กิจกรรมสำคัญของโครงการนี้คือ การส่งมอบข้อเสนอ “คนธรรมดาทำงานใหญ่ ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นของเด็กๆ ทุกคนที่มาร่วมงาน โดยมี ด.ญ.อาภรณ์ อาจวิชัย นักเรียนชั้นม.2 โรงเรียนคำชะอีวิทยาคาร จ.มุกดาหาร เป็นตัวแทนในการส่งมอบให้กับ ดร.ปัญญาแก้วกียูร ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

          น้องอาภรณ์กล่าวสรุปข้อเสนอที่ได้รับบนเวทีว่า “ด้วยพลังเล็กๆ ของพวกเราทุกคนมีความมุ่งมั่น ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ จึงร่วมกันผูกจิต คิดค้นแนวทาง ที่เรียกว่า “กระจิริดอาสา พัฒนาประเทศชาติ” ขึ้นมาเพื่อเป็นแรงหนุนส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ”

 

          สำหรับแนวทางที่น้องอาภรณ์ว่าคือ ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด “ร่มรื่นชื่นใจไทยสีเขียว” ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีก้าวไกล ความเป็นไทยคงอยู่” และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประเทศไทยให้เป็นปึกแผ่น ด้วยแนวคิด “สานสายใยรวมใจไทย 4 ภาค

 

          “แนวคิดที่เสนอต่อท่านในวันนี้ แม้จะมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่อย่างน้อยก็เป็นพันธสัญญาที่มีต่อพวกเราเองว่า หากต้องการจะสร้างสังคมให้น่าอยู่ ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผลักดันในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะพวกเราเองที่จะขอทำงานหนัก เพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่อย่างที่ควรจะเป็น” ตัวแทนจากเยาวชนนักสำรวจแผนที่สุขภาพฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update:13-07-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code