สุขภาพดีเริ่มต้นที่ ‘เมนู’

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 


สุขภาพดีเริ่มต้นที่ 'เมนู' thaihealth


"รายการอาหารข้างเคียงที่ร้านอาหาร มักนำเสนอเป็นชุด  ส่วนใหญ่เป็นอาหาร ที่ให้พลังงานอาหารสูง แต่สารอาหารต่ำ"


ทราบกันหรือไม่ว่า ประเทศไทย เราต้องสูญเสียงบประมาณไปมากกว่าสองแสนล้านบาทต่อปีจากภาระค่าใช้จ่าย ด้านการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะ ส่วนหนึ่งของโรคที่คนไทยเป็นกันมากนั้น กลับเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอยู่ของเราเอง ในงานวาระครอบรอบ 15 ปี ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้มีการจัดเวทีสัมมนาแนวทางเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐศาสตร์สุขภาพกับการปรับ พฤติกรรมการบริโภคอาหาร มิติใหม่ ของการทำงานส่งเสริมสุขภาพเพื่อ มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่ 3 คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี


สุขภาพดีเริ่มต้นที่ 'เมนู' thaihealth


บนเวทีดังกล่าว  ผศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่สามารถสร้างการบริโภคที่ดีและไม่ดีต่อสุขภาพ โดยการสำรวจธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ พบว่า รายการอาหารข้างเคียงที่มากับอาหารหลักที่ร้านอาหารมักนำเสนอเป็นชุด ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ให้ พลังงานอาหารสูงแต่สารอาหารต่ำ เช่นน้ำอัดลม มันฝรั่งทอด ขนมปัง โดยไม่ถาม ลูกค้าว่าต้องการอย่างอื่นหรือไม่


ทั้งๆ ที่จากผลการศึกษานี้พบว่า  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทานอะไรก็ได้ ไม่เรื่องมาก ดังนั้นการจูงใจด้วยการกำหนด "ทางเลือกมาตรฐาน" (Default Option) ด้วยการกำหนดหรือจำกัดสิทธิทางเลือกเมนู เป็นมาตรการที่ได้ผล ตัวอย่างเช่น การทดลอง กับร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่มีเบอร์เกอร์ไก่และเบอร์เกอร์ปลา พบว่าหากตั้งเบอร์เกอร์ไก่เป็นทางเลือกมาตรฐานจะมีกลุ่มคนที่เลือกไก่ร้อยละ 75.3 ในขณะที่ถ้าไม่กำหนดทางเลือกมาตรฐานจะมีผู้เลือกซื้อเบอร์เกอร์ไก่ เพียงร้อยละ 54.5 เท่ากับว่า การมีทางเลือกมาตรฐานทำให้คนเลือกเบอร์เกอร์ไก่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.8 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอาหารประเภทนั้นๆ เป็นที่คุ้นเคยเพียงใด


"หากเรามีนโยบายสนับสนุนให้ ร้านอาหารต่างๆ เสนอรายการอาหาร ชุดที่มีผักและผลไม้มากขึ้น จะทำให้ ผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กมีสุขภาพที่ดีขึ้น และเป็นการสร้างนิสัยการเลือกอาหาร ที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต"  ผศ.ดร. นพพลกล่าว


นอกจากนี้ การนำนโยบายสุขภาพ ไปสู่การปฏิบัติ เช่น จัดสถานที่ให้อาหาร เพื่อสุขภาพสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกกว่า และทำให้อาหารที่ส่งผลเสีย ต่อสุขภาพเข้าถึงได้ยากขึ้น การเปลี่ยนรายการอาหารใหม่ให้รายการแนะนำในหน้าแรก ๆ เต็มไปด้วยอาหารสุขภาพ  และใช้กระบวนการทางรูปภาพเพื่อให้อาหารสุขภาพเป็นที่น่าสนใจหรือการ ปรับขนาดภาชนะบรรจุอาหารให้เหมาะสม มีผลทำให้เกิดการสร้างการบริโภคที่ดีได้


สุขภาพดีเริ่มต้นที่ 'เมนู' thaihealth


ดร.เรณู การ์ก รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความสำเร็จของการบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมาย ที่ 3 ขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านนโยบาย ที่เอื้อไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ  ลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมในการ เข้าถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี  ซึ่งโรคไม่ติดต่อหรือโรคจากวิถีชีวิตคือประเด็นสำคัญด้านสุขภาพที่นำไปสู่  เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน


"โรคจากวิถีชีวิต ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง ล้วนแต่ต้องมีใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยสูงมาก ดังนั้นการวางนโยบายและมาตรการป้องกันควบคุมอย่างเหมาะสมถือเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเกี่ยวเนื่องกับ สภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม" ดร.เรณู กล่าว


และย้ำว่า ในเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  เป้าหมายดังกล่าวจึงจะสำเร็จขึ้นได้

Shares:
QR Code :
QR Code