สุขภาพคนไทย มวลกายเพิ่ม เสี่ยงเบาหวาน ความดันสูง

สสส.จับมือ สวรส. เปิดผลสำรวจสุขภาพคนไทย พบดัชนีมวลกายเพิ่ม เสี่ยงเป็นเบาหวาน – ความดันโลหิตสูง เหตุออกกำลังกาย กินผักน้อยแค่ 18 % พร้อมเดินหน้าโครงการสำรวจสุขภาพคนไทย ครั้งที่ 5 ทั่วประเทศ ค้นหาปัจจัยเสี่ยง หวังต่อยอดนโยบายสุขภาพของชาติ

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา นพ.วิชัย เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เริ่มโครงการสำรวจสุขภาพคนไทย ครั้งที่ 5 ระหว่างเดือนตุลาคม ปี 2556 – เดือนพฤศจิกายน ปี 2557  เพื่อสำรวจสถานการณ์สุขภาพ และปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของคนไทย โดยสุ่มสำรวจประชาชน ตั้งแต่อายุ 1ปี – 60 ปี จำนวน 32,400 คน  จาก 21 จังหวัดทุกภูมิภาค การสำรวจใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาล อาทิ ตรวจเลือด ปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ โดยมีโรงพยาบาลรามาธิบดี เก็บข้อมูลประชาชนในกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บข้อมูลประชาชนในภาคเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเก็บข้อมูลประชาชนในภาคกลาง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เก็บข้อมูลประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เก็บข้อมูลในภาคใต้ ทั้งนี้ผลการสำรวจที่ผ่านมา ได้ถูกนำไปวางแผนในการกำหนดนโยบายสาธารณสุข และส่งเสริมการป้องกันโรค ขับเคลื่อนการปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่อง

“การสำรวจจะสะท้อนปัญหาสุขภาพของไทย ในปี 56-57 เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านๆ มา ว่ามีทิศทางดีขึ้น หรือแย่ลง เพราะสุขภาพประชาชนมีแนวโน้มเหมือนกันทั่วโลก คือเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เบาหวาน และความดัน เนื่องมาจากการออกกำลังกายที่น้อยลง และไม่ดูแลสุขภาพโดยเฉพาะการรับประทานอาหาร จึงขอความร่วมมือประชาชนในการให้ข้อมูลทางสุขภาพกับเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามบ้านและชุมชน เพื่อสุ่มหากลุ่มตัวอย่าง โดยผู้ถูกสุ่มสามารถขอตรวจสอบบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ได้เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่ถูกหลอกลวง” นพ.วิชัย กล่าว

ด้าน นพ.สุวัฒน์  จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า  การสำรวจจำแนกตามช่วงอายุ แบ่งเป็น 5 ช่วงอายุ ดังนี้ 1.อายุ 1-5 ปี ทดสอบพัฒนาการ ตรวจปัสสาวะ และดูปริมาณไอโอดีน เป็นต้น 2.อายุ 6-9 ปี ทดสอบพัฒนาการ ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น 3.อายุ 10-19 ปี วัดความดันโลหิต เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด การทำงานของไต 4.อายุ 20-59 ปี เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะเลือดจาง เป็นต้น และ 5.อายุ 60 ปีขึ้นไป เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะเลือดจาง โดยผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะมีการตรวจสอบการเดิน (walk test) การมองระยะใกล้ (Near vision Test) ทดสอบทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และคัดกรองภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย ทั้งนี้ เด็กและผู้ใหญ่ มีปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดยวัยเด็ก จะเน้นการสำรวจเรื่องพัฒนาการและทักษะการเรียนรู้ ส่วนวัยผู้ใหญ่ จะเน้นพฤติกรรมการออกกำลังกาย การดื่มสุรา และอนามัย เจริญพันธุ์ แต่ในทุกช่วงอายุจะเน้นการสำรวจเรื่องโภชนาการว่ามีการบริโภคที่เหมาะสมหรือไม่

“การสำรวจครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยกินผักประมาณร้อยละ 18 เท่านั้น และยังพบว่า คนไทย เพศชาย และเพศหญิง มีเส้นรอบเอวและค่าดัชนีมวลกายเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอล มาก่อน ดังนั้น ถือเป็นโอกาสที่กลุ่มตัวอย่างที่รับการตรวจสุขภาพ จะได้ทราบข้อมูลสุขภาพของตัวเอง คาดว่า ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเก็บวิเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานผลสำรวจ จากนั้นจะทำข้อค้นพบที่สำคัญนำเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดเวทีวิชาการเพื่อนำเสนอผลการสำรวจต่อไป” นพ.สุวัฒน์ กล่าว

 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code