สื่อสะอาด สื่อสุขภาวะ
ข้อมูลจาก พิธีเปิดอบรมโครงการ Design Hero 2024: OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E – Cigarettes ภายใต้โครงการรู้เท่าทันสื่อรู้เท่าทันสุขภาวะ
ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
การคุกคามกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ของบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ครู และผู้แวดล้อมเด็ก ด้วยการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยด้านสุขภาพ ก่อนที่ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
นักสูบหน้าใหม่วัยรุ่นพุ่ง
ผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565
โดยข้อมูลจากการเฝ้าระวังตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ ปี 2567 พบว่าการขายบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เน้นสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า การรักษาลูกค้าด้วยการจัดส่งฟรีและมีโปรแกรมส่งเสริมการขาย ซึ่งช่วยกระตุ้นการซื้อผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ดึงนักสูบหน้าใหม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับนิตยสาร อาร์ตโฟร์ดี (art4d) จึงจับมือขับเคลื่อนโครงการ Design Hero 2024: OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E – Cigarettes
ซึ่ง Design Hero 2024 ไม่เป็นเพียงอีกเวทีคนรุ่นใหม่ที่ได้พัฒนาตนเองสู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ได้ร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบสื่อรณรงค์ ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเพื่อนร่วมวัย
แต่จากการคัดเลือกเยาวชน 35 ทีม จากผู้ที่ให้ความสนใจและส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 472 ทีม ทั่วประเทศ มาร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกับดีไซเนอร์มือร่วมกันออกแบบสื่อรณรงค์เตือนภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมแล้ว เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับการพัฒนาสู่ “นักสื่อสารสุขภาวะ” ที่มีทักษะเท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า จากการเสริมความรู้จากนักวิชาการระดับชาติที่มาช่วยเติมข้อมูล ข้อเท็จจริงเบื้องลึกเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ในเสวนา รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าด้วยสื่อรณรงค์ในเด็กและเยาวชน
ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีควัน แต่ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมหลายเสียงจึงยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าน่ากลัวยิ่งกว่าบุหรี่มวน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ รับฟังข้อมูลที่ช่วยไขข้องใจ โดย ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ แห่งศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เป็นผู้ฉายภาพให้กระจ่างชัดว่า หากเปรียบเปรยการมาของบุหรี่ไฟฟ้า คงเสมือนสึนามิที่ส่งผลกระทบในหลายประเทศ ในสหรัฐอเมริการะบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าคือวิกฤต ขณะที่อังกฤษเองถึงกับกล่าวว่าการมาของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเสมือนหายนะครั้งสำคัญ
“สำหรับประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นทั้งสองอย่าง เพราะนี่คือหายนะระดับสินามิ เนื่องด้วยการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและทำลายล้างสูง ซึ่งพอทำลายเสร็จก็เหลือแต่ซากปรักหักพัง ในตอนแรก ๆ เราอาจเข้าใจว่ามันโอเค แต่สิ่งที่เราได้เห็นในสื่อจะเริ่มเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้านั้น “โนเค””
ศ.พญ.สุวรรณาเผยต่อถึงอันตรายของมหันตภัยในกำมือที่ชื่อ “บุหรี่ไฟฟ้า”
“บุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่ที่จุดด้วยไฟฟฟ้าจึงมีความร้อนสูง เพราะฉะนั้นอันดับแรกเลย มันระเบิดได้ ซึ่งเคยมีเหตุผู้เสียชีวิตจากการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้ามาแล้ว”
แต่นั่นเป็นแค่ภัยจากภายนอก ทว่าฤทธิ์ร้ายของบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่จบ เพราะในรูปลักษณ์ที่หลากหลายนั้น ยังมี “สารและส่วนประกอบ” สารพัดที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพอยู่ภายในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหนักหน่วงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ตีบ แตก ตัน = ตาย
“เริ่มจากตัวขดลวดที่เป็นโลหะหนัก ซึ่งยังมีสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งตะกั่ว ลิเธียม แมงกานีส แคดเมียม ส่วนในน้ำยาที่ต้องใช้สารเพื่อละลายนิโคติน ประกอบด้วยน้ำมัน ร่วมด้วยสารต่าง ๆ อีกกว่า 2,000 ชนิดที่เป็นสารระคายเคืองและก่อมะเร็ง” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว
นิโคตินเป็นสารที่มีอันตรายร่างกายอย่างมาก ทั้งมีส่วนทำให้หลอดเลือดหดตัว กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ชีพจรเต้นเร็วเพิ่มความดันโลหิตสูง ที่ปลายทางคือโรคภัยที่รุมเร้าทั้งโรคไม่ติดต่อ (NCD) 2.79 เท่าของผู้ไม่สูบ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ไขมันสูง ไตรกรีเซอร์ไรด์ ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ แผลเรื้อรัง ไปจนถึงอัมพาต อัมพฤกษ์ ล่าสุดงานวิจัยชิ้นใหม่ยังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2-3 เท่า และสูงถึงเกือบ 5 เท่า หากสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน
ในทุกชนิดของบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่แบบมวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนมีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดอันตรายสูง ที่สำคัญนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมาพิเศษเพื่อให้มีคุณสมบัติทำให้ไม่ระคายคอ ไม่มีกลิ่นเหม็น แต่ก็ทำให้ดูดซึมได้รวดเร็วมาก จากปอดไปสู่สมองได้ภายใน 7 วินาที เนื่องจากเป็นน้ำยาจึงทำให้เพิ่มระดับของนิโคติน สูงสุดเป็นร้อยเท่าของบุหรี่มวน
เพิ่มโอกาส (โรค) มากกว่า
หากเราสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
มีการวิจัยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวันจะเสียชีวิต จากการวิจัยใหม่ล่าสุดชี้ชัดว่าน้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนอาจเสียชีวิตฉับพลัน
นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ไขมันสูง ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง จนถึงภาวะเมตาบอลอกซินโดรม และโรคเกี่ยวกับการเจริญพันธ์ 2.79 เท่าของผู้ที่ไม่สูบ
ปัจจุบัน โลกยังพบอาการป่วยใหม่ คือ ผู้ที่มีภาวะปอดอักเสบชนิดรุนแรงจากผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เรียกว่า อีวาลี (EVALI) เป็นอีกภัยสุขภาพที่มาแรงและกำลังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
ในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยเหยื่อรายแรกที่เสียชีวิตด้วยปอดอักเสบรุนแรง หรืออีวาลีในปี 2562 เพียงปีเดียว ในปีต่อมีการแถลงยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากอีวาลี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 พบยอดก้าวกระโดดพุ่งสูง ถึง 2,807 ราย และเสียชีวิตแล้วถึง 68 ราย”
ทำไมเราถึงติด
“นั่นเพราะสารในบุหรี่เมื่อขึ้นสมอง ไปทำให้สมองหลั่งสารความสุข หรือโดปามีน เมื่อสูบจะรู้สึกสบาย โล่ง ปลอดโปร่ง แต่เมื่อดรอปลงทันใด ความสุขที่ได้รับก็จะหายไป จึงทำให้อยากเสพอีก เป็นเหตุที่ทำให้เราเสพติดบุหรี่ ยิ่งในเด็กติดง่ายกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กเป็นเป้าหมายสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้า เรียกได้ว่าลูกค้าชั้นดี ทั้งยังอาจเป็นประตูนำไปสู่โอกาสที่จะเสพติด ตัวสารเสพติดอื่น ๆ ซึ่งมีการพิสูจน์มาแล้วว่า คนที่เคยติดบุหรี่จะหันไปเสพสารอื่น ๆ เพิ่มในอนาคต” ศ.พญ.สุวรรณา เฉลย
นอกจากนี้ นิโคตินทำให้เส้นเลือดหดตัว นำไปสู่ภาวะเส้นเลือดตีบ เส้นเลือดสมองตีบ โรคหัวใจ จนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งสำหรับในสมองเด็กเป็นช่วงวัยกำลังพัฒนา โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าที่สร้าง EF Function เรื่องการคิดวิเคราะห์ ความจำสมาธิการควบคุมอารมณ์จึงถูกทำลาย โดยบุหรี่ ที่มีการวิจัยรองรับแล้วว่าประสิทธิภาพการทำงานสมองจะลดลง 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบ และยังทำให้มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งจากการวิจัยในประเทศไทย พบถึง 53% นำไปสู่โอกาสฆ่าตัวตายมากขึ้น
“ปอดเป็นตัวรับโดยตรง ทำให้ได้รับสารระคายเคืองและหอบหืด ถุงลมโป่งพอง ติดเชื้อง่ายขึ้น ในช่วงโควิด-19 คนในสหรัฐอเมริกาคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับเชื้อง่ายกว่าคนที่ไม่สูบ และมีอาการรุนแรงกว่า 5 เท่า”
ยิ่งใกล้ยิ่งรับ
ขณะเดียวกัน แม้ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นผู้รับเคราะห์เป็นผู้สูบบุหรี่มือสามถึง 50-100% หากเพียงอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้สูบ โดยเฉพาะคนใกล้ชิดที่ได้รับภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะบุหรี่มือสองหรือมือสาม อย่างเช่น เด็กลูกหลานของเรา
ด้วยสารประกอบหลากพิษภัยและโลหะหนักในบุหรี่ไฟฟ้า จะแถมไปกับควันที่ติดตัวผู้สูบ และตกค้างในพื้นหรือผ้าม่าน ที่นอน หมอนมุ้ง เครื่องใช้ เสื้อผ้า หรือผม ซึ่งมีการวิจัยพบว่าสามารถตกค้างตามผนัง หรือพื้นห้องสูงถึง 10 เท่า หรือแม้แต่การที่คนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและสามนั่งร่วมในห้องเดียวกับผู้สูบมือหนึ่งมากกว่า 2 ชั่วโมง ก็จะได้รับนิโคตินเข้มข้นไม่ต่างกับมือหนึ่งเลยทีเดียว
ทันเกมตลาดบุหรี่ไฟฟ้า
ไม่เพียงสารของแถม ที่เป็นภัยสุขภาพมากล้นแล้ว อีกสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ “กลเกมการตลาด” ทั้งในมิติพัฒนาการด้านรูปลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้า ที่ถูกดีไซน์ต่อเนื่องให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้นยิ่งทำให้บุหรี่ไฟฟ้าดูไม่เป็น “ภัย” ในสายตาเด็กและวัยรุ่น ทั้งความพยายามเลี่ยงบาลีของเหล่าพ่อค้าที่ลักลอบจำหน่าย
ดร.ธารารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสตย.) ร่วมแชร์ข้อมูลว่า คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 มีระบุห้ามขาย ห้ามนำเสนอเพื่อ ห้ามให้บริการ บารากู่ดั้งเดิม บารากู่ไฟฟ้า ตัวยาบารากู่ดั้งเดิมและน้ำยาสำหรับเติมบากรากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีบทลงโทษกับผู้ประกอบธุรกิจจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กลยุทธ์ที่จะสยบบุหรี่ไฟฟ้าไปจากสังคม ดร.ธารารัตน์ ให้คำแนะนำถึงการใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่จูงใจให้นักสูบหันมาเลิกบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสกัดกั้นไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ จำเป็นต้องอาศัยการสร้างความรอบรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยข้อมูลผ่านการสื่อสารสู่กลุ่มเป้าหมายและภาคสังคมต่อเนื่อง ทั้งการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ให้เห็นถึงผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่นการสร้างสื่อต่างๆ การสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ ใช้การเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับผลกรทบจากบุหรี่ไฟฟ้า การพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างทักษะชีวิต การสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ รวมถึงการสอนผ่านกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ และให้ความสำคัญกับการสนับสนุนจากครอบครัวและโรงเรียน
“ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่อสื่อสารให้ทราบถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ได้พยายามสร้างแคมเปญรณรงค์ต่อเนื่องกับกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่นเดียวกันกับกิจกรรม “ดีไซน์ฮีโร่” ที่จัดขึ้นนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งการส่งสารถึงภาคสังคม ให้ตระหนักถึงภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยการใช้พลังจากเยาวชนช่วยส่งเสียง” พลังนักสื่อสารสุขภาวะจะเป็นกุญแจสำคัญในการร่วมสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนที่ยั่งยืน