สื่อวัฒนธรรมสร้างสรรค์ นำพาเยาวชนสู่การเรียนรู้

 

แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์
 
แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์  ใช้ศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นสื่อกลางในการสร้างเสริมสุขภาวะ โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชนให้เกิดทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมที่ดี โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งในฐานะผู้ส่งสารและผู้รับสารผ่านสื่อหรือกิจกรรมพื้นบ้าน และที่สำคัญแผนงานจำเป็นต้องทำงานร่วมกับหลายๆ ภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายให้สังคมมีสุขภาวะที่ยั่งยืน
 
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุก เพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์
 
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุก เพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ บอกว่า แผนงานเกิดมาพร้อมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.  ปีนี้ถือเป็นปีที่ 10 แล้วของการทำงานแผนงาน หากเปรียบเทียบหน้าที่ของเรา คือการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม เสมือนเป็นหน่วยงานการตลาดของ สสส. ในทางด้านสังคมและสุขภาพ ในส่วนของแผนงานจะรณรงค์สื่อสารวิถีชีวิต ความคิด และพฤติกรรม โดยกลุ่มเป้าหมายหลักที่วางไว้คือเยาวชน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดผลกระทบและเติบโตเป็นผู้ ใหญ่อย่างสมบูรณ์ได้
 
“สิ่งที่เราทำในช่วงแรก เป็นการทำงานเชิงรับ มีโครงการที่ดีต่อสังคม สุขภาพ เราก็สนับสนุนทั้งผู้เสนอโครงการและองค์กรต่างๆ แต่ระยะเวลาผ่านไปเราก็ทำแผนงานเชิงรุก โดยมองกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ใครจะเป็นผู้สื่อสารแก่เด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะพลังของการสื่อสารมีพลังมาก โดยใช้เวลาว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และสร้างผลกระทบต่อเด็กอย่างยิ่ง” อาจารย์ดนัยกล่าว และว่า เราจึงผลักดันสื่อต่างๆ ที่สร้างสรรค์ โดยนำภาคธุรกิจมาสนับสนุนในส่วนของศิลปวัฒนธรรม เพราะในต่างประเทศเรื่องดังกล่าวนี้ เขาจะสนับสนุนเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ที่ดี โดยพื้นที่นั้นอาจจะเป็นพื้นที่กายภาพทางสื่อ หรือช่องความคิดผ่านสื่อช่องต่างๆ จึงกำหนดแผนงานว่าจะดำเนินการอย่างไร
 
ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ บอกว่า เรามุ่งเน้นในเรื่องกระบวนการใช้สื่อเป็นกุศโลบายเข้าหาเยาวชน โดยเน้นสิ่งที่ตรงกับความสนใจ ตรงต่อความคิด ยอมรับว่าสิ่งที่มีความบันเทิงอาจจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า ก็เลยวางเป้าหมายว่าเราจะทำสื่อที่มีความสนุกสาน ความตื่นเต้น แต่สาระหลักของการเรียนรู้ต้องมี โดยเฉพาะเรื่องสุขภาวะหรือสังคม สิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นเยาวชนเป็นเป้าหมายหลักที่ได้รับประโยชน์ พร้อมขยายพื้นที่สร้างสรรค์ เราจะสร้างสื่อสุขภาวะที่เป็นต้นแบบเพื่อทำให้เด็กมีสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้เครือข่ายเหล่านี้เป็นต้นแบบที่ดี
 
สื่อพื้นบ้านสานสุข
 
กระบวนการเป้าหมายคือ เด็กต้องรักและเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยฐานจากพลังความคิดสร้างสรรค์ ความท้าทาย ความเป็นเจ้าของของความคิดนั้น หลังจากนั้นจึงกล้าแสดงออก ให้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ทำงานเป็นทีม เรียนรู้ในกระบวนการจิตอาสา ที่จะทำให้กระบวนการให้และรับไปสู่เพื่อนๆ และชุม ชนในสังคมหรือในสถานศึกษา”
 
นายดนัยกล่าวว่า เราทำงานจากการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราพบว่าเยาวชนมีปัญหามากมาย แต่ว่าเขายังขาดในพื้นที่ทางบวก พื้นที่สร้างสรรค์ การส่งเสริมต่างๆ เราต้องรื้อฟื้นคุณค่าดั้งเดิมในกลุ่มงานด้านศิลปวัฒนธรรม เราเริ่มต้นในสื่อสมัยใหม่ เช่น หนังสั้น โฆษณา สื่อรายการวิทยุ การ์ตูน ได้จัดมาอบรมและทำการประกวดเป็นผลงานของเยาวชน
 
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมโดยตรง แต่ว่าไม่ได้ทำงาน อย่างเช่น กระทรวงวัฒนธรรม เราจะนำพื้นบ้านมีอัตลักษณ์แท้ของชุมชน ของคนในพื้นที่มาสร้างความมีส่วนร่วม รวมทั้งสื่อศิลปินต้นแบบ ทำกระบวนการการรื้อฟื้น สืบค้นที่เป็นรากเหง้าวัฒนธรรม ภูมิปัญญาในชุมชน เอาเด็กมาเป็นตัวแทนในการสืบสาน ขยายผล โดยต้องการแก้ไขค่านิยมต่างประเทศ เช่น ติดเกาหลี ภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้คุณค่าความภาคภูมิใจในความเป็นไทยด้อยไป แต่เมื่อเราเข้าไปรื้อฟื้นในเรื่องเหล่านี้ อย่างเช่น มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มล้านนา กลุ่มชนเผ่า พื้นที่วัฒนธรรมทางภาคอีสาน เราพบว่าจริงๆ แล้วเยาวชนมีศักยภาพ แต่ขาดการแสดงออกในพื้นที่สร้างสรรค์
 
สื่อพื้นบ้านสานสุข
 
ยกตัวอย่างชุมชนกลุ่มเสี่ยงใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เราใช้กระบวนการศิลปวัฒนธรรม ดนตรี เข้าไปฟื้นฟูเยาวชนที่ติดสารระเหย ติดยาเสพติด ร่วมกับโรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เด็กเองมีพื้นที่ถนนเด็กเดิน ผู้ใหญ่มีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับพื้นที่ดังกล่าวถูกกระแสทุนนิยม หรือความหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวเป็นตัวทำลายการเติบโตเร็วเกินไปในส่วนของเยาวชน ทำให้เข้าไปใกล้ชิดกับปัจจัยเสี่ยงขึ้นได้
 
อาจารย์ดนัยกล่าวต่อว่า การทำงานจะเน้นเชิงบูรณาการ โดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ นพ.ประเวศ วะสี จะเคลื่อนให้ชุมชนและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม มีศิลปินที่เด็กชื่นชอบเข้ามาทำงาน พร้อมดึงสถาบันวิชาการ สถานศึกษาเข้ามาร่วมวิจัยและประเมินผล ตามมาด้วยการผลักดันด้วยพลังปัญญา ดึงเอานักวิชาการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เอาภาคนโยบายโดยชุมชนส่วนท้องถิ่น อาทิ เทศบาล อบต. เข้ามาร่วมทำงาน เพื่อเป็นตัวแม่แบบขยายผลไปยังพื้นที่กลุ่มต่างๆ
 
ทั้งนี้ แผนงานและ สสส.ดำเนินการโดยเป็นผู้กระตุ้นน้ำมันหล่อลื่นให้เยาวชนและชุมชน ในส่วนตรงนี้เริ่มต้นไปด้วยดี แต่สุดท้ายเราต้องส่งมอบนโยบายคืนสู่ชุมชนและสังคม หน่วยงานรัฐก็ต้องเข้ามาดูงาน เพราะหากไม่มีแผนงานของเรา โดยอีก 3-5 ปีหากชุมชนเดินไปได้ เราก็พยายามลดบทบาทลง ส่งมอบความเข้มแข็งความยั่งยืนให้แก่ชุมชน
 
ชุมชนนางเลิ้ง
 
“สำหรับแผนงานในปีนี้ จะขยายพื้นที่ต้นแบบที่มีศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ทั่วประเทศ คาดว่าจะเปิดตัวในชุมชนนางเลิ้ง กรุงเทพฯ เดือน ก.พ. โดยนำร่อง 15 พื้นที่ จะเป็นแนวทางเยาวชนร่วมคิด ร่วมทำ ชุมชนมีส่วนร่วม ดึงปัญหาต่างๆ มาช่วยส่งเสริมทำให้เด็กมีพื้นที่แสดงออก ส่วนงานด้านสื่อสร้างสรรค์ จะดึงเอาหน่วยงานสมาคมโฆษณาธุรกิจเข้ามาทำงานภาคสังคมมากขึ้น ในสื่อสร้างสรรค์ รวมทั้งจะมีการจัดประ กวดผลงาน โดยจะทำงานร่วมกับสมาคมช่างภาพแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบฯ ทำงานองค์กรภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่สื่อกระแสหลัก ทั้งสื่ออินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ ทีวีดาวเทียม โดยจะเห็นผลงานในช่วงปลายปี” คุณดนัย กล่าว
 
ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ ว่า สำหรับปัญหาการทำงาน เราต้องดึงเอาทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันมาก โดยอาจจะปรับความคิดว่าที่ สสส.สนับสนุนไม่ใช่แค่งบประมาณ แต่เป็นความรู้ แหล่งปัญญา อยากปลูกฝังให้ชุมชนและเยาวชนมีความผูกพัน การสนับสนุนของ สสส.ต้องมีหลายแบบทั้งงบประมาณและทีมนักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน ครูต้นแบบ นักดนตรีต้นแบบ เข้ามาส่งเสริม ไม่จำเป็นต้องเพียงเงินอย่างเดียว
 
 
 
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Shares:
QR Code :
QR Code