‘สื่อมัลติมีเดีย’ร.ร.วิหารเบิก
64,000 คน คือตัวเลขของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือกว่าร้อยละ 8 จากนักเรียนทั้งหมด 8 แสนคน ที่ สพฐ. หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกมาระบุว่า “อ่านภาษาไทยไม่ได้” และที่น่าตกใจมีนักเรียนชั้น ป.6 ที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้สูงถึง 32,000 คน
แต่สำหรับที่โรงเรียนวัดวิหารเบิก (กาญจนนุกูล) จ.พัทลุง ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ออกเสียงไม่ชัด นั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป เพราะโรงเรียนแห่งนี้ “ครูสมจิตร ปรางสุวรรณ์” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ด้วยสื่อมัลติมีเดีย” เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กๆ อย่างได้ผล ไม่ต้องใช้งบประมาณมากแค่มี “หัวใจของความเป็นครู”เท่านั้น
ถึงแม้ไม่ได้จบเอกภาษาไทยแต่ ครูสมจิตร ปรางสุวรรณ์ อาศัยประสบการณ์กว่า 25 ปี ที่คลุกคลีอยู่กับเด็กในพื้นที่ที่มีปัญหาพูดภาษาไทยไม่ชัด-อ่านภาษาไทยไม่ออกมาตลอด จนค้นพบว่าปัจจัยสำคัญของปัญหาอยู่ที่ “สถาบันครอบครัว” ที่ขาดการดูแลเอาใจใส่บุตรหลานเมื่อกลับไปที่บ้านเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องในโลกไซเบอร์ ยิ่งทำให้ทักษะการพูด อ่าน และเขียนของเด็กไทยตกต่ำ
“ปี 2546 มีเด็ก ป.4 คนหนึ่งอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ พยัญชนะก็ไม่ได้ สระก็ไม่ได้ สอนเสริมก็ไม่ทันเพื่อน จึงเริ่มทำสื่อการสอนเพื่อช่วยเขา เริ่มจากเขียนตัวอ่าน มีตัวหนังสือ และมีรูปภาพฉายขึ้นบนจอ มีคำศัพท์ 10 คำ และสอนคู่กับการทำแบบฝึกอ่านเขียน ทำอยู่สองปี ปีละ 10 เล่ม เล่มละ 10 คำ รวมเป็น 20 เล่ม เขาก็อ่านได้เขียนได้ และพูดกับครูว่า “ครูครับผมอ่านได้แล้ว” “ครูสมจิตร เล่าด้วยรอยยิ้ม
สำหรับ “สื่อมัลติมีเดียเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทย” นั้นไม่น่าเบื่อ แต่น่าสนใจ สนุก และมีความสุขในการเรียนไปพร้อมกัน อีกทั้งเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปแบบง่ายๆ ที่ “ครูสมจิตร” เลือกใช้ “ภาพ ตัวอักษร และเสียง” มาใช้ร่วมกันในการพัฒนาทักษะการ ฟัง อ่าน และพูด สำหรับเด็กๆ โดยจะใช้ควบคู่กับ “แบบฝึกเขียน” คำศัพท์ เด็กได้ทักษะการดูรูปภาพ ดูตัวหนังสือ สังเกตตัวหนังสือว่ามีพยัญชนะใดบ้าง แล้วก็อ่านออกเสียงได้ถูกต้องตามเสียงต้นแบบ
เพียงแค่เด็กใช้เมาส์คลิกไปที่คำศัพท์ หรือรูปภาพต่างๆ ก็จะฝึกการอ่านตัวสะกดและออกเสียงได้อย่างสนุกสนาน “ครูสมจิตร” ยังนำกระบวนการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” และ “พี่สอนน้อง” มาใช้ดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษช่วงหลังเลิกเรียนหรือในวันหยุดเสาร์อาทิตย์เพื่อให้เรียนรู้ได้ทันเพื่อนร่วมชั้นเรียน
ด.ญ.ยุพเยาว์ หมวดจันทร์ หรือ “น้องเยาว์” นักเรียนชั้น ป.6 เล่าว่า มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้น้องๆ ชั้น ป.1 และ ป.4 หลายคนอ่านออกเสียงไม่ถูก สะกดดำไม่ได้ และเขียนได้เป็นบางคำ ก็จะแนะนำว่าแต่ละคำนั้นอ่านออกเสียงอย่างไร มีคำสะกดอย่างไร เขียนอย่างไร โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนในตอนเย็นมาช่วยสอน และยังเป็นการทบทวนความรู้ของตัวเองด้วย
ด.ญ.วาสนา หมวดจันทร์ หรือ “น้องฝ้าย” เพื่อนร่วมชั้นเดียวกันบอกว่าอยากให้น้องๆ อ่านและเขียนภาษาไทยได้ ทุกวันหลังเลิกเรียนจะเอาแบบเรียนมาอ่านให้น้องฟัง และให้น้องอ่านตาม หรือเปิดคอมพิวเตอร์ เมื่อเจอคำศัพท์จากบทเรียนต่างๆ จะให้น้องลองอ่านก่อนแล้วค่อยเฉลยวิธีอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง
“สื่อการสอนวิชาภาษาไทยของคุณครูสมจิตรน่าสนใจตรงที่มีเพลงประกอบการเรียน มีวิดีโอเกี่ยวกับสระ พยัญชนะ และตัวสะกด มีการต่ออักษรให้เป็นคำ มีทั้งวิธีการออกเสียงและมองเห็นภาพ ทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่าสนุกและได้ความรู้ในเวลาเดียวกัน”น้องฝ้ายเล่า
ปัจจุบันสื่อมัลติมีเดียและแบบฝึกเขียนถูกพัฒนาขึ้นมา 55 ชุด โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวดคือ “หลักเกณฑ์ทางภาษา” ที่นำมาตราตัวสะกดตรงมาตรา ตัวสะกดไม่ตรงมาตรา นำมาผสมด้วยตัวสระ หรืออักษรนำ คำควบกล้ำ อักษรควบไม่แท้ หรือการันต์ และแยกเป็นหมวด “คำกริยาอาการของใช้” เช่น หมวดของใช้ หมวดร่างกาย หมวดคำกริยา หมวดผลไม้ หมวดอาชีพ ฯลฯ เพราะเมื่อเด็กอ่านออกก็ควรที่เขียนได้ด้วย ดังนั้นจึงต้องนำแบบฝึกเขียนมาใช้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในแต่ละชุดด้วย โดยสื่อชนิดนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ยังช่วยให้เด็กปกติเรียนรู้ภาษาไทยได้รวดเร็วมากขึ้น
“สื่อมัลติมีเดียและแบบฝึกเขียนที่สร้างขึ้น ความหวังสูงสุดอยากจะแก้ปัญหาให้เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้อ่านออกและเขียนได้ เมื่อได้ทดลองได้ผล เห็นพัฒนาการของเด็กดีขึ้น คิดว่าเมื่อทดลองเครื่องมือที่สร้างขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้วจะขยายผลไปสู่เครือข่ายครูใน จ.พัทลุง แต่เป้าหมายสูงสุดคือครูทั่วประเทศไทย และตั้งใจจะเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อให้เด็กทุกคนอ่านออก เขียนได้ตามศักยภาพของเขา แล้วก็มีความสุขเมื่อมาโรงเรียน”ครูสมจิตรสรุป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก