สื่อชายแดนใต้ ร่วมผลิตคลิป ‘สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม’
ที่มา : เว็บไซต์ songkhlatoday.com
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ songkhlatoday.com
‘สื่อชายแดนใต้’ บุกเมืองกรุงฯ จับมือ สสส. ผลิตคลิปรับโครงการ “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” ตั้งเป้าส่งเสริมสื่อมวลชน ยืนหยัด-ปรับตัว พร้อมรับผิดชอบต่อสังคม
23 – 24 เมษายน 2562 ที่โรงแรม TK palace Hotel เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือเครือข่ายการปฏิรูปการเรียนรู้ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม พร้อมเครือข่าย จัดอบรมพัฒนาศักยภาพและปฐมนิเทศนักสื่อสารสร้างสรรค์ 4 ภูมิภาค ระยะที่ 2 ผลักดัน “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” มีสื่อมวลชนจากจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 17 คน นำโดย นายภูวสิษฏ์ สุขใส นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (STMA) เข้าร่วม
อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม สสส. กล่าวชี้แจงโจทย์และทิศทางการทำงานโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมในระยะที่ 2 ว่า ในช่วงการหล่อหลอมเทคโนโลยีที่ทุกคนมีโทรศัพท์ การทำสื่อจึงไม่จำกัดเฉพาะวิชาชีพ ทำให้บทบาทของสื่อมวลชนกำลังเปลี่ยนไป จำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ เพื่อร่วมมือกันผลิตข่าวสารที่มีคุณภาพ บูรณาการทำงานร่วมกับชุมชน เยาวชน สถานศึกษา และสถาบันการศึกษาที่ผลิตนักสื่อสารมวลชน โดยมีโจทย์เป้าหมายให้สื่อสามารถยืนหยัดปรับตัวอยู่ได้ พร้อมกับเป็นนักสื่อสารสร้างสรรค์ที่รับผิดชอบต่อสังคม และเป็นต้นแบบแก่สื่อเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวสู่วงการ ขณะเดียวกันเราจะต้องเป็นแหล่งความรู้เสริมสติปัญญาแก่คนอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะการผลิตเผยแพร่สื่อในโลกออนไลน์
นายสัญญา คงประพันธ์ ผู้สื่อข่าว ททบ. 5 ภูมิภาค จ.สงขลา กล่าวว่า ตนมีโอกาสได้เข้าอบรม MOJO ตั้งแต่ระยะที่ 1 และครั้งนี้เป็นระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งแต่ละครั้งได้รับความรู้สึกที่ดีกลับมาพร้อมกับมิตรภาพระหว่างผู้บรรยายที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้เชิงลึกในด้านต่าง ๆ รวมถึงมิตรภาพจากผู้เข้าอบรมทุกคนด้วย
“ความรู้ที่ได้รับผมสามารถนำไปต่อยอดการทำงาน ในฐานะนักสื่อสารมวลชนได้ทั้งในแง่คุณธรรมจริยธรรมสื่อ องค์ประกอบในการสร้างสรรค์สื่อที่นำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดี โดยนำมาปรับให้เข้ากับงานที่กำลังทำในทุก ๆ ด้าน การเป็นนักสื่อมวลชนที่ดีควรสนับสนุนและมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม เพื่ออนาคตของเยาวชนและเพื่ออนาคตของตัวเองด้วย”
นายสาเล็ม ครู ผู้สื่อข่าวช่องวัน พีพีทีวี จ.ปัตตานี กล่าวว่า การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ทำให้ได้เห็นสิ่งสำคัญทั้งด้านเทคนิคการเขียนข่าว การจับประเด็น การสร้างเรื่องราวโดยการนำประเด็นต่าง ๆ มาเชื่อมโยงให้ไปด้วยกันได้ นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำข่าว และสิ่งที่ทำตอนนี้เป็นสื่อเชิงบวก ต้องการนำสิ่งดี ๆ ที่มีในชุมชนสังคมสามชายแดนใต้ออกมานำเสนอเผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับรู้ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติจากภาพความรุนแรงที่หลายคนเห็นมาตลอดหลายปี