สื่อกับปัญหาเยาวชน บ่มพฤติกรรมเลียนแบบ
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
'สื่อ' กับปัญหา 'เยาวชน' บ่มเพาะพฤติกรรมเลียนแบบ
จากประสบการณ์การศึกษาตำราวิชานิเทศศาสตร์ที่มีอยู่ตามรั้วมหาวิทยาลัย ได้ให้คำจำกัดความของประเภทหนังสือพิมพ์ โดยจำแนกตามเนื้อหา หน้าที่ และอัตลักษณ์ของแต่ละฉบับ เอาไว้ได้ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ หนังสือพิมพ์แนวคุณภาพ (quality newspapers) มุ่งเน้นการเสนอข่าวหนัก (hard news) เรื่อง สังคม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ข่าวมุ่งสนองความรู้ ความคิดของผู้อ่าน การใช้ภาษาจะไม่หวือหวาเร้าอารมณ์ การแสดงความคิดเห็นจะใช้เหตุผลมากกว่าเล่นสำนวน หนังสือพิมพ์ประเภทนี้มักมียอดจำหน่ายไม่ค่อยสูงนัก
ต่างจากหนังสือพิมพ์แนวประชานิยม (popular newspapers) ที่มุ่งเน้นการเสนอข่าวเบา (soft news) เร้าอารมณ์ เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวภัยพิบัติ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเพศ ข่าวบันเทิง ข่าวแปลกประหลาด ข่าวความขัดแย้ง และความรุนแรงต่างๆ ซึ่งเป็นข่าวประเภทที่คนธรรมดาสามัญทั่วไปสนใจ สนองอารมณ์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ทำให้มียอดจำหน่ายสูงลิ่วจนติดเพดาน
การนิยมเสพติดข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประเภทหลังเป็นค่านิยมของคนไทยที่คล้ายโรคระบาดมาช้านาน จนเป็นช่องทางให้สื่อมวลชนแขนงอื่นๆ ซึ่งเกิดตามหลังพากันโหมถ้อยคำหวือหวา สำนวนเนื้อหาปลุกเร้า ให้ผู้เสพเกิดอารมณ์สะใจจากความกระหายใคร่รู้อันมีอยู่ในกมลสันดาน โดยหารู้ไม่ปัญหากำลังลุกลามบานปลายจนยากจะแก้ไขได้ทันเสียแล้ว
จากผลวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ในโครงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเยาวชนที่ตกเป็นข่าวหน้า 1 กับการเสพติด สู่แนวทางป้องกันแก้ไขกรณีศึกษากลุ่มเยาวชนที่ตกเป็นข่าวในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอเอาไว้
พบข้อมูลวิจัยเชิงสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 851 ตัวอย่าง จากประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุตามข่าว จำนวน 26 ข่าว ซึ่งเกิดเหตุการณ์ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2559 โดยได้เก็บข้อมูลตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 851 ตัวอย่าง ครอบคลุมในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และงานวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า ร้อยละ 90 เชื่อภาพ และการพาดหัวข่าวพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ว่าเยาวชนผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดและมีพฤติกรรมดังที่ปรากฏในข่าว
ทั้งข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมรุนแรง ข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมการลักขโมย ข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมการละเมิดทางเพศ ข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับขี่ นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่ามีปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นเด็กและเยาวชนให้ทำความผิด คือ การใช้สารเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ ยาบ้า และยาไอซ์ ถูกเพื่อนชักชวน ทำตามเพื่อน หรืออยากเป็นที่ยอมรับในกลุ่ม
ความเห็นในส่วนของครอบครัวคือไม่รู้วิธีดูแล ขาดทักษะในการเลี้ยงดู ด้านเยาวชนที่ทำผิดไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ขาดเป้าหมาย แรงจูงใจในการใช้ชีวิต สำหรับสังคมผู้ประกอบธุรกิจสิ่งมึนเมาขาดความรับผิดชอบมุ่งแต่ยอดขาย อีกทั้งสื่อมวลชนที่ปรุงแต่งข่าวและถ้อยคำพาดหัวให้น่าติดตามจนเสี้ยมสอนเด็กเยาวชนให้ทำผิดรุนแรงเพื่อให้เกิดการเป็นที่ยอมรับในคุณค่าผิดๆ ของกลุ่มที่กระทำความผิด
สอดคล้องกับที่ นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้ให้ความเห็นในงานเสวนาหัวข้อ "กะเทาะเปลือกถึงแก่น ทำไมเยาวชนก่อเหตุสลดขึ้นข่าวหน้า 1" ซึ่งจัดขึ้นที่ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชนว่า พื้นที่ข่าวกระแสหลักที่เป็นสื่อเก่า ทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ตามข้อเท็จจริงของภาวะปัจจุบันมีข่าวอาชญากรรมทุกประเภทรวมกันต่อปีมากกว่า 200,000 ข่าว แต่สามารถลงข่าวในพื้นที่ข่าวหน้า 1 ได้เพียงไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้น
พร้อมทั้งยอมรับการนำเสนอข่าวบนสื่อเก่ายังคงต้องยึดโยงกับความต้องการของประชาชน การตลาดก็มีการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากการเข้ามาของสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้การใช้ภาษา เนื้อหา ต้องมุ่งเร้าความสนใจของสาธารณชน ซึ่งจากการทำงานด้านข่าวอาชญากรรมที่ผ่านมา ค้นพบว่า ข่าวมีลักษณะสำคัญอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ข่าวประจาน ข่าวประณาม ข่าวการให้ความช่วยเหลือ และข่าวการให้ความรู้เตือนภัย โจทย์ของตนที่มองคือ เราจะช่วยกันทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่ข่าวที่สร้างประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของประชาชนมากขึ้น ในยุคที่ประชาชนสามารถสร้างสื่อของตนเองได้ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปกป้อง คุ้มครองเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสื่อที่เสนอความรุนแรง จนกลายเป็นปัญหาลุกลามของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
อีกหนึ่งความคิดเห็นของผู้มีประสบการณ์ตรงที่เข้าร่วมงานเสวนาอย่าง นางทิชา ณ นคร หรือ "ป้ามล" ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ก็มองเหตุปัจจัยของการกระทำผิดของเยาวชนมีหลายส่วนด้วยกัน ความล้มเหลวของระบบการศึกษาก็คือส่วนหนึ่ง ซึ่งตนเคยได้ยินคำว่า "เมื่อประตูโรงเรียนปิด ประตูคุกก็เปิด สำหรับเด็ก" เพราะสิ่งที่ติดมากับเด็กคือ ระบบที่ทำร้ายคน ความพ่ายแพ้ ความอ่อนแอ เมื่อเด็กกระทำผิด นั้นเป็นเพียงการก้าวผิดพลาด หรือการขาดพร่อง ซึ่งบางคนเป็นการขาดจากสภาพของครอบครัว มีครอบครัวที่แตกแยก หย่าร้าง ขาดความอบอุ่นและการโอบกอด หรือเผชิญรับกับสถานการณ์การใช้ความรุนแรงจนเป็นความคุ้นชิน ดังนั้น เด็กที่กระทำผิดอาจเป็นสาเหตุจากอารมณ์ชั่ววูบ ที่สำคัญการติดคุก ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะเหตุสำคัญของการกระทำผิดคือเด็กรับมือกับปัญหาไม่ได้ ไม่ใช่ไม่มีระเบียบ ไม่ใช่เพราะไม่มีอาชีพ ไม่ใช่เพราะเสื้อผ้าที่สวมใส่
ถึงเวลาต้องเลือกเพื่อเดินต่อไปจะเชียร์สื่อไหน? ระหว่าง "คุณภาพ" กับ "ประชานิยม"