สืบทอดบุญบั้งไฟตะไลล้าน ตำบลกุดหว้า
ชาวผู้ไท ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้านที่ไม่เหมือนใคร เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านกุดหว้า เป็นภูมิปัญญาผู้ไทที่สืบทอดสู่ลูกหลาน แถมสร้างชื่อเสียงให้กับชาวกุดหว้ามาโดยตลอด ที่นี่ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานบุญบั้งไฟปลอดเหล้าที่มีความปลอดภัยในระดับสูง
ความพิเศษในปีนี้คือ เน้นปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดการพนัน และพร้อมรับอาเซียนที่ผ่านมา เทศบาลตำบลกุดหว้า ร่วมกับเครือข่ายงดเหล้า และ สสส. รณรงค์ให้งานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านปลอดเหล้าต่อเนื่องกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 เพราะต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงให้ประชาชนทุกคนที่มาเที่ยวชมงานมีความสนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ และเข้าถึงสาระสำคัญของจิตวิญญาณงานบุญประเพณี
สาริกา อุทรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดหว้า กล่าวว่า ก่อนการจัดงานทางเทศบาลได้มีการจัดเวทีชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ ตลอดจนมีข้อตกลงร่วมกัน ทุกคนในชุมชนเกิดความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน ผู้นำ ชาวบ้าน และผู้ประกอบการร้านค้าต่างเปิดใจรับรู้ถึงปัญหา พร้อมให้ความร่วมมือ โดยไม่ดื่ม ไม่ขายแอลกอฮอล์ในระหว่างงาน เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง คนภายนอกที่เข้ามาก็ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามในแบบอย่างของเรา สำหรับความปลอดภัย ทางเทศบาลจัดสถานที่จุดบั้งไฟเป็นพื้นที่โซนนิ่งเพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยบริเวณฐานจุดบั้งไฟและจุดเข้าชมของนักท่องเที่ยว ที่สำคัญคือ บั้งไฟตะไลล้านของชาวกุดหว้าทุกบั้งจะต้องมีร่มชูชีพเพื่อชะลอการตกลงสู่พื้นดินอีกด้วย
"ในปีนี้เทศบาลตำบลกุดหว้าได้รับเกียรติจากพิพิธภัณฑ์ริบลีส์ 'เชื่อหรือไม่' พัทยา (ประเทศไทย) โดยสมพร นาคซื่อตรง รองประธานกรรมการบริหาร ได้มอบประกาศนียบัตรเป็นบั้งไฟตะไลล้านที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความยาวรอบบั้งตะไล 18.86 เมตร ในการจัดงานบุญบั้งไฟตะไลล้านปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดการพนัน สู่อาเซียน ปี 2558 เป็นสิ่งที่ชาวกุดหว้าภาคภูมิใจมาก สามารถทำประเพณีบุญพญามารให้กลายเป็นบุญบั้งไฟปลอดเหล้าปลอดภัยได้ การจัดงานบุญประเพณีให้ปลอดเหล้าเรามาถูกทางแล้ว ปีต่อไปต้องขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกันว่า งานบุญบั้งไฟตะไลล้านกุดหว้า เป็นงานปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดการพนัน" นายกเทศมนตรีย้ำความสำเร็จ
งานนี้ ขบวนรำฟ้อนบูชาพญาแถน ผู้แสดงเป็นหญิงสาวตำบลกุดหว้ากว่า 400 คน ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณชุมชนร่วมฟ้อนรำ พร้อมการเคลื่อนขบวนรถแห่บั้งไฟของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งประดับตกแต่งบั้งตะไลจำลองในหลายรูปแบบ มีการประดิษฐ์ตกแต่งที่สื่อถึงความเป็นวิถีชุมชนและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม มีขบวนนางรำที่แต่งตัวด้วยสีสันสวยงามออกมาวาดลวดลาย อีกทั้งมีขบวนรณรงค์ปลอดเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ และปัจจัยเสี่ยง สร้างสรรค์ร่วมในขบวน กิจกรรมนี้ทั้งเด็กเล็ก เยาวชนคนหนุ่มสาว ตลอดจนผู้สูงอายุในชุมชนมีส่วนร่วม สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ในวันจุดบั้งไฟเริ่มจุดตั้งแต่เช้าในพื้นที่โซนนิ่ง ฐานจุดบั้งไฟอยู่ห่างจากการเข้าชมของนักท่องเที่ยวระยะทาง 500 เมตร แต่ละค่ายบั้งไฟแบกบั้งไฟตะไลเข้าสู่พื้นที่ที่จัดไว้ และนำไปวางบนฐานสำหรับการจุด มีการส่งสัญญาณเป็นธงเขียว ธงแดง เพื่อให้คณะกรรมการรู้ว่าพร้อมที่จะจุดแล้ว
นาทีระทึกใจมาถึงเมื่อคนจุดบั้งไฟจุดครบแล้วต้องวิ่งออกมาแบบไม่หันหลังกลับเพื่อเข้าไปหลบในบังเกอร์ ควันสีขาวปนเทาจะค่อยๆ ลอยออกมา รอคอยให้บั้งไฟตะไลที่กำลังหมุนลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างรวดเร็วด้วยเสียงที่ดังทั่วทั้งพื้นที่ เมื่อบั้งไฟขึ้นจนสุดแล้วร่มชูชีพจะค่อยๆ กางออก ตะไลจะค่อยๆ ร่อนลงมาถึงพื้นดินอย่างช้าๆ ด้วยความปลอดภัย
วิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ระบุว่า "งานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน (ปลอดเหล้า) ประจำปี 2558 เป็นการสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวผู้ไทกุดหว้าตั้งแต่บรรพบุรุษที่สืบสานจนถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้รุ่นลูกหลาน และสานสัมพันธ์ของครอบครัวชุมชนได้ดียิ่ง พลังของพี่น้องชาวตำบลกุดหว้าที่ให้ความสำคัญกับงานประเพณีบุญบั้งไฟปลอดเหล้า ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เน้นวัฒนธรรมของชุมชน
"ความพร้อมเพรียง สามัคคี ความเสียสละของชาวตำบลกุดหว้าพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า งานประเพณีบุญบั้งไฟที่จัดแบบปลอดเหล้า ปลอดภัย และปลอดการพนัน สามารถรักษาเอกลักษณ์และคุณค่าแท้ของชุมชน ยังคงความสุขสนุกสนานได้เช่นเดิม ขอบคุณในความพยายามของชาวกุดหว้า ทั้งเทศบาล นายอำเภอกุดหว้า ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งชาวค่ายบั้งไฟตะไลล้าน ผู้นำชุมชน นักแสดงในขบวนแห่ ร้านค้าผู้ประกอบการ รวมทั้งอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยที่เป็นเจ้าภาพจัดงานร่วมกันใช้มาตรการทางสังคมดูแลปกป้องไม่ให้ธุรกิจน้ำเมาเข้ามาทำร้ายเด็กเยาวชน อีกทั้งปกป้องพิธีขอฝนอันศักดิ์สิทธิ์จากน้ำเมา พร้อมสร้างค่านิยมที่ดีงามเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลัง" วิษณุเผย
อย่างไรก็ตาม ผลจากการจัดงานในปีนี้ ผจก.แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สสส.ชี้ จะนำไปสู่การผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายต่อกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานเชิงนโยบายอื่นๆ เพื่อสร้างข้อกำหนดและมาตรการในการสร้างความปลอดภัย และคงไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมที่งดงามของงานบุญบั้งไฟ โดยการทำงานระดับพื้นที่นั้นทั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอและส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียงต่างก็ขานรับ เห็นด้วยกับการสร้างความปลอดภัย ปลอดเหล้า และปลอดการพนัน โดยจะให้กุดหว้าโมเดลเป็นตัวอย่างในการขยายผลการทำงานออกไปในอำเภอและพื้นที่จัดงานต่างๆ ในปีต่อไป.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเฟสบุ๊คประเพณีบุญบั้งไฟตะไลบ้านกุดหว้า