สิ่งท้าทายใหม่
หากมองสถานการณ์ไปถึง พ.ศ. 2556 ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะคนไทยจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ยังมีสถานการณ์วิกฤตด้านอาหาร วิกฤตพลังงาน การปรับเปลี่ยนค่านิยมทางสัมคม การหลีกเลี่ยงกฎหมายและใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
นอกจากนี้สังคมไทยยังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ของสังคมเป็นผู้รับจ้าง ซึ่งในประชากรกลุ่มนี้นั้นส่วนหนึ่งเป็นผู้ไร้สัญชาติ ทั้งยังก่อให้เกิดผู้พิการจากอุบัติเหตุและพิการจากเครื่องจักร เป็นปัจจัยเร่งความรุนแรงต่อปัญหาสุขภาวะในภาพรวม
นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหาในเชิงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาวะ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยที่เป็นสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะอันดับแรกของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดในกลุ่มเยาวชน อาทิ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้สังคมไทยมีความอ่อนแอ
สิ่งท้าทายที่สำคัญอีกประการของ สสส. คือ ผลสำเร็จจากการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันอาจจะส่งผลกระทบต่องบประมาณ ทำให้มีความจำเป็นที่ สสส. ต้องคำนึงถึงการสนับสนุนหรือสร้างองค์กรที่สามารถทำงานด้านพัฒนาสังคมได้ต่อเนื่อง ยั่งยืน (social enterprise)
ภารกิจของ สสส. เกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤตของประเทศหลายด้าน ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ สสส. ต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อเสริมหนุนพลังภาคีให้ใช้ความรู้และวิธีการที่เหมาะสม เพื่อช่วยแก้ปัญหาอย่างคล่องตัวและทันการณ์ มุ่งเน้นการจัดการที่เป็นรากเหง้าของปัญหาและปัจจัยทางสัมคมที่มีผลต่อสุขภาวะ
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นการผันผวนของปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอำนาจต่อรองของปัจเจกชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หากแต่ละฝ่ายใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่นและสังคมโดยรวม ก็จะทำให้เกิดสภาวะความแตกแยกและความรุนแรงไม่สิ้นสุด จึงเป็นสิ่งท้าทายสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง
ในโอกาสที่ สสส. ได้ก่อตั้งมาจนจะครบหนึ่งทศวรรษในปี 2554 นี้ คณะกรรมการกองทุนจึงเห็นร่วมกันที่จะพิจารณาบนเรียนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาร่วมกับการมองทิศทางในอนาคตมุ่งมั่นทำงานเชิงรุก โดยใช้ศักยภาพของตนเองตลอดจนการเสริมพลังจากทุกภาคส่วน สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ประชากรไทยมีค่านิยมที่เหมาะสม มีความเข้มแข็งในมิติด้านจิตใจและปัญญาส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดดุลยภาพและความเป็นธรรมของสังคม ทำให้เมืองไทยมีความร่มเย็นเป็นสุข มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมโลก
ที่มา : หนังสือแผนหลัก สสส. 2554-2556
Update:08-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่