สิทธิผู้บริโภค สิทธิ์ที่ต้องรู้

ดูวันหมดอายุ เงื่อนไขสิ้นค้าก่อนเสมอ

 

สิทธิผู้บริโภค สิทธิ์ที่ต้องรู้

 

คนเราเกิดมาไม่ว่าจะชาติใด ศาสนาไหน ล้วนมีเสรีในการเลือกบริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินหรือแม้แต่การเลือกใช้สินค้า รวมถึงบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของตนเอง หากแต่สิ่งที่เราเลือกได้อย่างเสรีเหล่านั้น มันปลอดภัยและคุ้มค่ากับเราจริงหรือ???

 

            จากบทเรียนในหลายเหตุการที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น น้ำหมักอัศจรรย์รักษาโรค แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบเชื้อโรคเพียบ หรือถ้าไม่มีรถไฟตกราง ก็คงจะไม่รู้ว่าการรถไฟฯไม่เคยมีประกันชีวิตผู้โดยสาร ทั้งๆ ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแสนแพง หรือแม้แต่ไส้กรอกชื่อดัง มีสารกันบูดผสม สิ่งเหล่านี้มันกลับบ่งบอกว่า อาหารหรือบริการที่เราสามารถเลือกได้นั้น กลับไม่รับรองว่า ปลอดภัย เลยแม้น้อย… เมื่อเอาเข้าจริงๆ แล้วทุกวันนี้ ผู้บริโภคสามารถ เลือกได้จริงๆ หรือ….

 

            เพื่อป้องกันการเอาเปรียบกันและกัน พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค จึงเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2522 เพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ของผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งจัดตั้งองค์กรของรัฐเพื่อเข้ามาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง จนมีการกำหนดให้ทุกวันที่ 30 เม.ย. ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญปี 2540 ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดชัดเขนให้มีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐโดยมีตัวแทนผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ แก่ผู้บริโภคนั่นเอง

 

            โดยตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค ขึ้นในปี 2522 ได้กำหนดสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคไว้ 5 เรื่องสำคัญคือ ต้องได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง มีสิทธิเลือก มีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย มีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาและมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย… ทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ในฐานะผู้บริโภคได้

 

…ทั้งนี้หากมีกฎหมาย แต่ผู้บริโภคไม่รู้จักใช้สิทธิ กฎหมายที่ศักดิ์สิทธ์ก็ไม่เป็นประโยชน์…ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรปฏิบัติในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการในแต่ละครั้ง สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญนั่นคือ ฉลากและการโฆษณาของสินค้า ต้องตรวจดูเพื่อเป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบสินค้าแต่ละยี่ห้อ ก่อนตัดสินใจเลือก โดยฉลากจะต้องระบุ ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า พร้อมประเทศที่ผลิตด้วย นอกจากนี้ฉลากยังจำเป็นต้องระบุชื่อหรือเครื่องหมายการค้า ที่จดทะเบียนในประเทศไทย สถานที่ตั้ง ขนาดหรือปริมาณของสินค้า พร้อมแสดงวิธีใช้และข้อแนะนำด้วย… 

 

และที่ขาดไปไม่ได้ คือ วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุในการใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ รวมถึงราคาโดยระบุหน่วยเป็นบาทหรือสกุลอื่นก็ได้ เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค…

 

นอกจากนี้ผู้บริโภคควรสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ คุณภาพของสินค้าจากผู้ขายหรือผู้ที่เคยใช้ ศึกษาเงื่อนไขหรือข้อจำกัดของสินค้า แต่อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างโดยง่าย ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อลดการถูกโกง และใช้สินค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แถมประหยัดอีกด้วย…

 

            แต่ถึงที่สุด หากยังมีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเกิดขึ้นอยู่อีกผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสินค้าหรือบริการนั้น หรือที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสายด่วน 1166 ทันที ที่สำคัญต้องเก็บรักษาพยานหลักฐานต่างๆ ที่แสดงถึงการละเมิดสิทธินั้นไว้ หากเอกสารหลักฐานที่ผู้บริโภคนำมาไม่ครบถ้วน จะทำให้ผู้บริโภคเสียเวลาในการยื่นเรื่องมากกว่าเดิม

 

วันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายนที่จะถึงนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นเตือนผู้บริโภคให้ตระหนักถึงสิทธิของตนเอง เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ค้า…  ซึ่งทางเดียวที่จะป้องกันตัวเองได้ดีที่สุดก็คือไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าและบริการใดก็ตาม ใช้สติในการพิจารณาให้รอบคอบซื้อให้ช้าที่สุด เพราะการซื้อแบบเร็วๆ ความผิดพลาดจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า อย่างคำสุภาษิตที่ว่า ช้า ๆได้พร้าเล่มงาม ตราบใดที่เงินในกระเป๋าของเรายังไม่ออกไปอยู่ที่มือผู้ค้า การเจรจาต่อรองก็ยังสามารถทำได้เพื่อให้ได้ข้อยุติที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย…

 

 

 

 

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

 

Update 29-04-53

 

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code