สิทธิของเด็กๆ เรื่องไม่เล็กที่ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจ

 สิทธิของเด็กๆ เรื่องไม่เล็กที่ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจ

 

 

            เด็กถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานต่างต้องดูแลเอาใจใส่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเด็ก เพื่อให้เด็กเหล่านั้นเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกประเทศร่วมกันประกาศข้อกำหนดเกี่ยวกับ สิทธิเด็กโดยกำหนดให้วันที่ 20 พ.ย.ของทุกปีเป็นวันประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กอีกด้วย…

 

            สิทธิเด็กถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน แต่เด็กเป็นกลุ่มที่ต้องการการคุ้มครองมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากความสามารถของสภาวะทางร่างกายและสติปัญญาของเด็กเองที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่จึงต้องได้รับการคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ โดยในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้น สามารถแยกเป็น ประเภทใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภท ได้แก่

 

1. สิทธิในชีวิตและการอยู่รอด เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดู ไม่ว่าโดยบิดา มารดา ญาติพี่น้องหรือรัฐ เพื่อให้อยู่รอดและเจริญเติบโต และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีเพียงพอตามฐานะซึ่งหากครอบครัวไม่สามารถจะดำเนินการได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ รัฐต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการบริการด้านสุขอนามัยให้พ้นจากโรคภัยต่างๆ ที่จะทำให้เด็กเสียชีวิตหรือพิการ

 

2. สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกรูปแบบที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองจากการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกาย จิตใจและทางเพศ ซึ่งรวมทั้งการล่วงละเมิดทางเพศหรือการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากเด็ก เช่น การค้าประเวณีเด็ก การขายเด็ก การนำเด็กไปใช้ขอทาน ไม่ว่าโดยบิดา มารดา ผู้ปกครองเด็กหรือโดยบุคคลอื่น

 

            3. สิทธิในการพัฒนา เด็กมีสิทธิในการพัฒนาตนเอง ทั้งด้านการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญา และ

 

4. สิทธิในการมีส่วนร่วม โดยเด็กสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรีในทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็กและรัฐต้องดำเนินมาตรการให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ทั้งต้องให้น้ำหนักต่อความคิดเห็นนั้นตามควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการทางศาลและทางการบริการที่จะมีผลกระทบต่อเด็ก

 

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) บอกเกี่ยวกับสิทธิเด็กและเยาวชนว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการประกาศใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิเด็กอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงการคุ้มครอง “สิทธิของเยาวชน” ที่ยังมีปัญหามากอยู่ เพราะเด็กในกฎหมายคือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด-18 ปี แต่เยาวชนคือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18- 25 ปี โดยในกลุ่มเยาวชนดังกล่าว มักจะมีปัญหาการละเมิดสิทธิทางเพศสูง โดยจากข้อมูลพบว่าเยาวชนไทยถูกละเมิดทางเพศสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศเอเชีย และมีการเสียชีวิตเนื่องจากการทำแท้งและคลอดลูกติดอันดับต้นๆ เช่นกัน

 

            ทุกปัญหาต้องมีทางออกเสมอ ซึ่ง นพ.สุริยเดว ได้เสนอแนะทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า ประเทศไทยควรเร่งผลักดัน พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ ให้คุ้มครองครอบคลุมไปถึงเยาวชนด้วย และสามารถทำให้การเข้าถึงความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กระจายไปสู่สาธารณชนกว้างข้าวงขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะมีแต่หมอเด็กเท่านั้นที่รู้ แต่ต้องให้สังคมเรียนรู้และเข้าใจด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว

 

            นอกจากนี้ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน ยังได้ยกตัวอย่างประเทศที่สามารถดูแลคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิทางเพศของเด็ก เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในประเทศไทยว่า ในรัฐแคลิฟอเนีย ประเทศอเมริกา มีการบังคับใช้กฎหมายและเอาผิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น หากมีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น จำเป็นต้องเอาผิดกับคู่กรณีที่มีอายุมากกว่า 4-5 ปี เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะทางความรู้สึก และวุฒิภาวะทางความอารมณ์มากกว่า โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีหากประเทศไทยจะนำมาปรับใช้เพื่อลดปัญหาบางส่วนลงได้

 

            เมื่อเด็กและเยาวชนถือเป็นอนาคตของชาติ ดังนั้น เราจึงไม่ควรคำนึงถึงเรื่องของ สิทธิเด็กแต่เฉพาะวันที่ 20 พ.ย.ของทุกปีเท่านั้น แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งผลักดันให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือแก้ปัญหา หาแนวทางป้องกัน ทั้งในรูปของ พ.ร.บ. หรือกฎหมายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ และคุ้มครองตัวเด็กอย่างครอบคลุมและถาวร

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

 

Update:15-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code