สำรวจพบ คนไทย "สุข"เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันประเทศเดนมาร์คถือเป็นประเทศที่มีความสุขลำดับ 1 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 36 ของโลก และอยู่ลำดับที่ 2 ของอาเซียน รองลงมาจากประเทศสิงคโปร์
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 20 มี.ค. เป็นวันความสุขสากล ซึ่งกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจความสุขคนไทย โดยการใช้แบบสำรวจสุขภาพจิตคนไทย ฉบับสั้น 15 ข้อ พบว่า ในปี 2557 ช่วงครึ่งปีหลัง ความสุขของคนไทยค่อย ๆ ดีขึ้น โดยความสุขสัมพันธ์กับการมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ การมีสังคม การทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
การมีรายได้ที่พอเพียง การไม่มีหนี้ โดยรวมถือว่าประชาชนไทยนั้นมีความสุขอยู่ในเฉลี่ยปานกลาง โดยวิธีสร้างความสุขง่าย คือ “ให้เวลา ขยับกาย กระจายสิ่งดี” คือการมีเวลาให้ครอบครัว การออกกำลังกาย และการให้แต่สิ่งดี ๆ แก่กัน
น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า จากการสำรวจอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2551-2557 พบว่า ความสุขของคนไทยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สภาพสังคม ระดับความสุขจะเพิ่มขึ้นและลดลงสอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ความสุขในกลุ่มผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นเมื่อมีนโยบายเบี้ยยังชีพ 500 บาท หรือ ความสุขลดลงในปี 2554 ทั้งประเทศเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น สำหรับปี 2557 พบว่าค่าคะแนนความสุขประชาชน ลดลงอยู่ที่ 32.06 จากปี 2555 อยู่ที่ 33.59 ปี 2556 อยู่ที่ 33.35 เมื่อพิจารณารายไตรมาส พบว่า ค่าคะแนนความสุข ไตรมาสที่ 2 ทำการสำรวจช่วงทำรัฐประหาร อยู่ที่ 31.30 จากนั้นความสุขเริ่มเพิ่มขึ้นในไตรมาสต่อมาอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 31.48 ส่วนไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 32.31 ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มความสุขของประชาชนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2558
น.ส.รัจนา กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลจะพบว่าผู้ชายมีความสุขมากกว่าผู้หญิงในทุกเรื่องที่ทำการสำรวจ และคนที่แต่งงานแล้วจะมีคะแนนความสุขมากกว่าคนโสด ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความเหงา ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุพบว่าผู้ที่ยังทำงาน หรือมีเงินออมชราภาพเยอะ จะมีความสุขมากกว่า คนที่ไม่มีงานทำ ทั้งนี้ยังน่าเป็นห่วงในกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ลำพัง ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 30 สำหรับปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดความสุข ยังพบว่า คนที่มีเพื่อนคอยช่วยเหลือ ยิ่งมากยิ่งมีความสุขมากกว่าสำหรับด้านเศรษฐกิจ พบว่ากลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด จะมีความสุขห่างจากกลุ่มอื่น ส่วนคนที่มีรายได้ปานกลาง ไปถึงรายได้น้อย ก็ถือว่ายังมีความสุขในระดับปานกลาง ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจนั้น ยังมีความสัมพันธ์กับรายจ่าย หนี้สินด้วย ข้อแนะนำในภาพใหญ่คือต้องเพิ่มความมั่นคง ปลอดภัยในชุมชน และจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นให้ทั่วถึง
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับครึ่งปีหลังพบว่า จังหวัดที่มีความสุขสูง 5 อันดับแรก คือ จ.สิงห์บุรี บึงกาฬ ลำพูน พิจิตร แพร่ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีความสุข 5 อันดับสุดท้าย คือ ชลบุรี สมุทรปราการ สุโขทัย แม่ฮ่องสอน และ สระแก้ว ส่วน กทม. อยู่ลำดับที่ 44 โดยสังเกตพบว่าภาคเหนือถือเป็นภาคที่มีจังหวัดที่มีความสุขสูง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัย เช่น การมีสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีสายสัมพันธ์ที่ดี การช่วยเหลือเกื้อกูล การเป็นชุมชน เป็นต้น.
ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต