สาวชาวใต้ ผู้พลิกชะตาป่าสาคู

'พวงน้อย' สาวปริญญาโท สู่หญิงผู้พลิกชะตาป่าสาคู


สาวชาวใต้ ผู้พลิกชะตาป่าสาคู thaihealth


ชาวบ้านกะโสม หมู่ 4 ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากจะมีรายได้อาชีพหลักคือการทำสวนยางพาราแล้ว ชาวชุมชนยังมีอาชีพเสริมจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น โดยการส่งเสริมผ่าน “โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรผสมผสาน” สร้างรายได้ให้กับชุมชนกันอย่างถ้วนหน้า


 “ชาวบ้านที่นี่ทำสวนยางพาราเป็นหลัก ส่วนการปลูกผักพื้นบ้าน นับเป็นอาชีพเสริมที่ชาวบ้านกำลังให้ความสนใจที่จะเรียนรู้” พวงน้อย พิพัฒน์ผล มหาบัณฑิต จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เลือกใช้ชีวิตชาวสวน แกนนำโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรผสมผสาน เล่าด้วยความภาคภูมิใจ


“โครงการฯ เริ่มต้นด้วยการสร้างเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ด้วยการให้ความรู้ และพร้อมที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ในการทำอาชีพเกษตรกรรมแบบผสมผสาน อาทิ การทำปุ๋ยหมัก ที่พัฒนามาเป็นปุ๋ยน้ำ ผลพลอยได้ก็คือ น้ำส้มขี้ยาง

ซึ่งก่อนหน้านี้ ชาวบ้านต้องซื้อ น้ำส้มสารเคมี เพื่อทำให้น้ำยางแข็งตัว แต่น้ำส้มขี้ยางที่ได้ กลับมีประสิทธิภาพสูงกว่า เป็นการลดต้นทุน และน้ำปุ๋ยหมัก ยังช่วยเร่งผลผลิตน้ำยางให้มากขึ้น 20-30%”  


ชาวบ้านที่ยึดอาชีพทำสวนยางอย่างเดียว เมื่อหมดหน้ากรีดยาง ก็จะขาดรายได้ 2-3 เดือน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน รวมถึงราคายางที่ตกต่ำ โครงการฯ จึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน และพืชสมุนไพรต่างๆ  เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ ผักเหรียง ผักหวานช้างโขลง กระวาน ไพล โดยไม่ต้องใช้สารเคมี เป็นผักปลอดสารพิษอย่างแท้จริง


สาวชาวใต้ ผู้พลิกชะตาป่าสาคู thaihealth“จากที่ปลูกไว้กิน บางครอบครัวเหลือกิน จึงนำมาขายสร้างรายได้ เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ สนใจหันมาทำตาม โครงการฯ เข้าไปช่วยจัดหาพันธุ์พืช จึงเกิดการรวมกลุ่ม และออกไปนำไปขายในตลาดร่วมกัน เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกร”


นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้ส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว โดยการหาคนมาสอน ต่อยอดให้เกิดประสิทธิผล มากยิ่งขึ้น


ไม่เพียงเท่านี้ ชุมชนกะโสม ยังมีพื้นที่ป่าพรุ และป่าสาคูรวมแล้วกว่า 600 ไร่ โดยเฉพาะ สาคู เป็นพืชสารพัดประโยชน์ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน รองมาจากสวนยางพารา ซึ่งต้นสาคู มีลักษณะต้นคล้ายมะพร้าว ใช้ประโยชน์ตั้งแต่โคนไปถึงยอด ชาวบ้านจะโค่นต้นมาแปรรูปได้เป็นแป้งสาคู สินค้าหายากราคาแพง  ใช้ทำขนมสาคู ลำต้นส่วนที่เหลือจากการทำแป้ง ยังนำใช้สำหรับเลี้ยงด้วงสาคู  และทำปุ๋ยได้อีก ก้านของใบสาคูใช้ในงานจักสาน ส่วนใบสาคูนำมาเย็บจากมุงหลังคา เป็นสินค้ามีชื่อเสียงของหมู่บ้านกะโสม ที่พ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าบ้าน ส่วนมากถูกนำไปมุงหลังคารีสอร์ท ทำรายได้ถึงเดือนละ 50,000 บาท


“จากทั้งหมดที่กล่าวมา จึงทำให้ชาวบ้าน มักโค่นต้นสาคู เพื่อนำมาสร้างรายได้ โครงการฯ จึงได้มีแผนอนุรักษ์ป่าสาคู โดยมีป่าไม้จังหวัดนครศรีรรมราชเข้ามาให้งบประมาณการอนุรักษ์ พร้อมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ในการดูแลรักษาป่าสาคู พืชเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้ ป่าสาคูที่กะโสม มีลักษณะพิเศษต่างจากที่อื่นๆ เพราะมีตาน้ำผุด ที่เรียกว่า ควนน้ำผุด ขึ้นกลางเนินป่าสาคู โครงการฯ จึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านผลักดันให้ป่าสาคูกะโสม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเคียงคู่ไปกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน


พวงน้อย เล่าว่า ที่ผ่านมากิจกรรมชุมชนดำเนินไปแบบต่างคนต่างทำ จึงไม่ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โครงการฯจึงได้เป็นทำหน้าทีเป็นผู้ประสาน นำแต่ละกลุ่มในชุมชนร่วมการขับเคลื่อนไปด้วยกัน เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งภายในชุมชน และต่างชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านนำความรู้กลับมาพัฒนาตนเองและชุมชน ได้เป็นผลสำเร็จตามวัตุถประสงค์ของโครงการในการจัดการเกษตรแบบผสมผสาน


  “ต่อไปนี้ เราไม่คิดถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างในอดีต แต่เราพัฒนาทั้งหมู่บ้าน ให้เศรษฐกิจดีขึ้นโดยรวม ซึ่งทั้งหมดกำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือ ชาวบ้านได้กินของปลอดภัย มีรายได้ที่ดีขึ้น รู้จักการใช้จ่าย มีความสุขในครัวเรือน  เพื่อให้เดินไปสู่ ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองอย่างแท้จริง” พวงน้อย กล่าวทิ้งท้าย


 


 


ที่มา : www.facebook.com/Section6TH (สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.)

Shares:
QR Code :
QR Code