สารวัตรอาหาร พิทักษ์เมนูปลอดภัย
ดูแลกันเองง่ายๆตามอัตภาพ
สังคมเกษตรกรรมของชาวไทยล้านนา 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน การดำรงชีวิตส่วนใหญ่สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด กินอยู่เรียบง่าย ปลูกข้าวไว้กินเองตลอดทั้งปี อาหารอื่นๆ ล้วนหาได้ใกล้ตัว เช่น น้ำพริกตาแดงกับกระถินริมรั้ว ผักสดจากสวนครัวหลังบ้าน หาหน่อไม้ และเห็ดจากป่า เลี้ยงหมู ปลา ไก่ ไว้เป็นอาหารโปรตีนในครัวเรือน
หากคราใดในหมู่บ้านมีงาน ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานปอย หรืองานศพ ชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหารการกินที่คิดว่าดีที่สุดไว้ต้อนรับแขกเหรื่อ
นั่นหมายความว่าเมนูหลักต้องมีเนื้อสัตว์เป็นสำคัญ หาใช่พืชผักที่บริโภคกันในชีวิตประจำวัน ลาบ หรือหลู้ดิบ จึงเป็นเมนูยอดฮิตประจำงาน ที่สืบ ทอดกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้ว่ารูปแบบการยังชีพของคนในสังคมจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม
พระปลัดอภินันท์ อภิปุญโญ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอนาหมื่น จ.น่าน เล่าว่า ก่อนปีพ.ศ.2544 รายจ่ายด้านอาหารในงานต่างๆ ของหมู่บ้านสูงมาก โดยเฉพาะงานศพ ซึ่งเจ้าภาพมักจะเก็บศพไว้ทำพิธีทางศาสนา 4-6 วัน ระหว่างนั้นคนทั้งหมู่บ้านก็จะมาช่วยงาน รวมถึงแขกเหรื่อและญาติพี่น้อง ต่างถิ่นเดินทางมาร่วมงาน ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อกันทุกมื้อ ล้มหมู ล้มวัว มาทำลาบ หลู้ แถมมีเหล้าดื่มกินอย่างเอิกเกริก กลายเป็นภาระหนักของเจ้าภาพ
ต่อมามีงานวิจัยเข้ามาในพื้นที่ แกนนำชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ร่วมทำวิจัยกับทางสาธารณสุขอำเภอน่าน และเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงนำมาพูดคุยกันในเวทีประชาคม เริ่มพิจารณาวันเสียที่ไม่ควรเผาศพให้ลดน้อยลง จะได้ลดวันเก็บศพให้เหลือน้อยลงเพียง 3-4 วัน
ขณะเดียวกันก็เลิกเชือดหมู เชือดวัวเอง เพราะไม่คุ้มค่า ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะเนื้อแดง เหลือหนังและมันไว้ สุดท้ายก็ทิ้งเปล่า แตกต่างจากการซื้อที่เลือกเฉพาะส่วนที่ต้องการได้ ไม่ต้องจ่ายค่าหมู หรือวัวทั้งตัว และยังมั่นใจในความสะอาดปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากผ่านโรงเชือดที่ได้มาตรฐานแล้ว
นอกจากนี้ ก็พยายามทำอาหารจากวัตถุดิบที่มีในพื้นบ้านมาเลี้ยงกันมากขึ้น เช่น ฤดูกาลที่มีหน่อไม้มาก ก็ช่วยกันหาหน่อไม้มาต้ม หรือแกง แทนการเน้นเนื้อสัตว์ล้วนๆ ประกอบกับในปีพ.ศ.2550 ที่ผ่านมา ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการลดอบายมุข การพนัน บุหรี่ และเหล้าในงานศพ ทำให้เจ้าภาพประหยัดเงินได้งานละหลายหมื่นบาท
ขณะที่ จงจิต ปินศิริ สาธารณสุข อ.นาหมื่น ในฐานะหัวหน้าโครงการชาวนาหมื่นปลอดภัยร่วมใส่ใจสุขาภิบาลอาหารของสสส. บอกว่าแม้งานวิจัยที่ชุมชนและองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันทำมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 10 ปี จะทำให้ชาวบ้านในเขตอ.นาหมื่น ใช้งบประมาณเลี้ยงแขกเหรื่อในงานต่างๆ น้อยลง
แต่ความรุนแรงที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวบ้านในจ.น่าน ยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้งดังที่เคยปรากฏเป็นข่าว เช่น กินเห็ดเสียชีวิตที่อ.บ่อเกลือ, ชาวอ.แม่จริม กินลาบเนื้อเก้ง เนื้อทราย แล้วท้องเสีย, ชาว อ.บ้านหลวง กินหน่อไม้ปี๊บแล้วต้องหามส่งโรงพยาบาล และชาวนาหมื่น เชือดหมูทำหลู้เลี้ยงแขกในงานศพ ท้องเสียกว่า 20 คน
ทีมวิจัยจึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างมาตรการไม่ให้เกิดเหตุการณ์อาหารเป็นพิษซ้ำอีก โดยให้ 48 หมู่บ้าน ในเขต 4 ตำบลของอ.นาหมื่น ส่งตัวแทนหมู่บ้านละ 5 คน เข้ารับการฝึกอบรมเป็น “สารวัตรสุขาภิบาลอาหาร” มีหน้าที่คอยเฝ้าระวัง ควบคุม กำกับการประกอบอาหารเลี้ยงแขกภายในงานต่างๆ ของหมู่บ้าน พร้อม ทั้งจัดทำเป็นนโยบายอาหารปลอดภัย นำเข้าประชาคมอำเภอ แล้วประกาศเป็นนโยบายสาธารณะ
โดยเน้น 5 มาตรการหลัก คือ
1.การบันทึกแบบฟอร์มในการจัดทำอาหารแต่ละมื้อตลอดงาน โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคือเจ้าภาพเสนอเมนูให้สารวัตรอาหารประจำหมู่บ้านตรวจสอบให้ความเห็นชอบ แล้วให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเซ็นอนุญาต ก่อนส่งแบบฟอร์มให้สาธารณสุขอำเภอ
2.ไม่นำอาหารประเภทเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ ขึ้นโต๊ะเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน
3.เมื่อมีงานในหมู่บ้าน ต้องจัดบุคคล สถานที่ประกอบอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหาร มีป้ายสถานที่ประกอบอาหาร กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประกอบอาหารสวมหมวก ผ้ากันเปื้อน ล้างมือให้สะอาด มีสแลนหรือสิ่งอื่นๆ กั้นเป็นเขตประกอบอาหาร
4.ใช้อาหาร เครื่องปรุง และส่วนประกอบของอาหาร โดยยึดหลักผักพื้นบ้านอาหารพื้น เมือง และเป็นพืชผักที่ปลอดสารพิษ
5.ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นวัสดุธรรม ชาติ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
“อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินงานของสารวัตรอาหารราบรื่นยิ่งขึ้น จึงจัดอบรมให้ความรู้ตัวแทนกลุ่มแม่บ้าน หมู่บ้านละ 10 คน ก่อนขยายไป ยังตัวแทนนักเรียนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำให้ปัจจุบันทุกหมู่บ้านในอ.นาหมื่น เห็นความสำคัญของอาหารปลอดภัย และให้ความร่วมมือกับนโยบายนี้เป็นอย่างดี” หัวหน้าโครงการกล่าว
สมหมาย เมฆแสน นักวิชาการสาธารณสุข อ.นาหมื่น ในฐานะเลขานุการโครงการ ร่วมเสริมว่า ในช่วงที่ผ่านมาทุกหน่วยงานทั้งสาธารณสุขอำเภอ วัฒนธรรมอำเภอ ศูนย์การศึกษานอกโรง เรียน องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล พระสงฆ์ และชาวบ้าน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ
ไม่ว่าจะเป็นเดินรณรงค์อาหารปลอดภัยในกิจกรรมต่างๆ, ให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทุกแห่งเป็นเครือข่ายของโครงการ, จัดเวทีเครือข่ายพูดคุยถึงปัญหาในทางปฏิบัติ เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไข จนนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แต่ละหมู่บ้านทำผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผมไว้ให้กลุ่มแม่ครัวได้ใช้อย่างทั่วถึง ในการทำอาหารก็เน้นสุก สะอาด ปลอดภัย ไม่นำลาบ หลู้ หรืออาหารที่สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยมาเลี้ยงแขกอีก
ด้าน แชน อะทะไชย ผู้ประสานงานและประเมินผลโครงการเปิดรับทั่วไปของสสส. สรุปผลสำเร็จว่า การทำหน้าที่ของสารวัตรสุขาภิบาลอาหาร ถือเป็นการคัดกรองอาหารปลอดภัยอย่างมีคุณภาพ หากพบว่าเมนูใดเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ก็จะแนะนำให้เจ้าภาพปรับเปลี่ยน เป็นผลดีทั้งต่อเจ้าภาพที่ต้องรับผิดชอบ หากเกิดปัญหาอันสืบเนื่องมาจากอาหารภายในงานของตน และแขกเหรื่อที่รับประทานอาหารภายในงานก็จะได้รับอาหารดี สะอาด มีประโยชน์ต่อร่าง กาย
“โครงการนี้สามารถเป็นต้นแบบที่พื้นที่อื่นสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ และอีสาน ที่ยังนิยมบริโภคอาหารสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย เพราะเมื่อประกาศเป็นนโยบาย และชาวบ้านยอมรับ มองเห็นเป็นเรื่องพิษภัยใกล้ตัว ก็เท่ากับได้มาตรการทางสังคมไว้กำกับดูแลกันเองด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ถูกบังคับด้วยกฎหมาย ประสิทธิภาพและประสิทธิ ผลที่ได้จึงแตกต่างกันอย่างชัดเจน” ผู้ประสานงานและประเมินผลโครงการกล่าว
ท่ามกลางภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ทั้งยัง มีสารพัดโรคภัยระบาดเข้ามาไม่หยุดยั้ง โครงการอาหารปลอดภัยน่าจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถดำรงอยู่อย่างพอเพียงและปกติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามอัตภาพ
ที่มาข่าว/ภาพ: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update: 01-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร