สารก่อมะเร็งร้ายในบุหรี่ ทำลายทั้งผู้สูบและผู้รับควัน

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีสารก่อมะเร็งเบนโซเอไพรีนปนเปื้อนในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีนั้น สารก่อมะเร็งตัวนี้เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งหลายสิบตัวที่พบในควันบุหรี่

โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดในหนูที่เป็นสัตว์ทดลอง โดยการให้หนูหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปโดยเป็นการทดลองที่สรุปตั้งแต่ พ.ศ. 2515 แต่ไม่สามารถพบว่าทำให้เกิดมะเร็งปอดในหนูโดยการให้หนูกินอาหารที่ปนเปื้อนสารนี้ในการวิจัยเมื่อ พ.ศ.2542 พบว่า ปริมาณสารเบนโซเอไพรีนมี 9 นาโนกรัมต่อบุหรี่ซิกาแรตหนึ่งมวน ซึ่งมีน้ำหนักเท่ากับหนึ่งกรัม หรือ 9 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากสารก่อมะเร็งเบนโซเอไพรีนแล้ว ควันบุหรี่ยังประกอบด้วยสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 69 ชนิด ตามรายงานที่นายแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกาเสนออย่างเป็นทางการต่อสภาคองเกรสในปี พ.ศ. 2553

การได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งถึงสิบชนิด ตั้งแต่มะเร็งช่องปาก ลำคอและกล่องเสียง  หลอดลมและปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เม็ดเลือดขาว ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง  โดยอวัยวะที่เกิดมะเร็ง เป็นผลจากการที่สารก่อมะเร็งในควันบุหรี่สัมผัสกับอวัยวะนั้นๆ ทั้งที่สัมผัสโดยตรง เช่น ช่องปาก ลำคอและกล่องเสียง หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หลอดลมและปอด สัมผัสกับสารก่อมะเร็งที่ถูกพามากับกระแสเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดขาว ตับอ่อน และมะเร็งปากมดลูก และที่สัมผัสกับสารก่อมะเร็งที่ถูกขับออกจากร่างกาย คือ ไตและกระเพาะปัสสาวะ

การสูบบุหรี่รวมถึงการได้รับควันบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในทุกอวัยวะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ โดยในปี พ.ศ.2551  ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 7.6  ล้านคน ในจำนวนนี้ 1,672,000 คน หรือ ร้อยละ 22 มีสาเหตุมาจากการใช้ยาสูบ ในส่วนของคนไทย ในปี พ.ศ. 2552  มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ 18,041 คน โดยการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งร้อยละ 34.35  ของชาย และร้อยละ 10 ของหญิงไทย การเลิกสูบบุหรี่และการหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งที่ดีที่สุด ในผู้ที่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ไม่ควรจะสูบบุหรี่ในที่ที่มีคนอื่นอยู่ด้วย เพื่อไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น

 

 

ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

Shares:
QR Code :
QR Code