“สายฝน” อีกเรื่องของสุนัขกับงู

ช่วงฝนตกอย่างนี้ ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่มากับความเฉอะแฉะ โดยเฉพาะบ้านไหนที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ และต้นไม้ นั่นก็คือ เรื่องของ “งู และสัตว์มีพิษ” ซึ่งมักจะหนีน้ำเข้ามาอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัย ทำให้พบปัญหาเรื่องสุนัขถูกงูกัดมากกว่าช่วงอื่นๆ วันนี้เราจะมาคุยเรื่อง “สุนัขกับงู” กัน

 “งู” ถ้าจะให้แบ่งชนิดกันแบบง่ายๆ เลยก็คือ กลุ่มงูที่ไม่มีพิษ และ กลุ่มงูพิษ

ตัวอย่างของงูที่ไม่มีพิษ ได้แก่ งูดิน งูก้นขบ งูแสงอาทิตย์ งูหลามและงูเหลือม งูประเภทนี้ไม่มีต่อมพิษ ดังนั้นถ้าถูกงูกลุ่มนี้กัด มักทำให้เกิดการบาดเจ็บจากแผลที่ถูกกัดเท่านั้น ซึ่งมักไม่อันตรายถึงชีวิต (ยกเว้น 2 ชนิดหลัง มักเสียชีวิต จากการ “ถูกกิน” มากกว่า “ถูกกัด”)

อีกกลุ่มหนึงคือ งูพิษ ซึ่งชนิดที่พบในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะของพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย

1.พิษต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม จะมีผลทำให้อ่อนเพลีย สลึมสลือ กลืนอาหารและหายใจไม่สะดวก เป็นอัมพาต และจะเสียชีวิตเนื่องจากะระบบการหายใจหยุดทำงาน

2.พิษต่อระบบเลือด ได้แก่ งูกะปะ งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ บริเวณที่ถูกกัดจะบวม ผิวหนังจะเปลี่ยนสี มีน้ำเลือดหรือเลือดไหลจากแผล หรือจากเหงือก ปัสสาวะเป็นเลือด มักไม่มีอาการอัมพาต แต่จะเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลว

3.พิษต่อระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล จะมีผลต่อกล้ามเนื้อ และขยับขาลำบาก กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตบางส่วน ขากรรไกรจะเกร็ง และเสียชีวิตเนื่องจากภาวะการหายใจล้มเหลว และภาวะไตวาย

คำถามคือ จะทราบได้อย่างไรว่า สุนัขของเราถูกงูกัด

โดยทั่วไป เรามักไม่เห็นว่าสุนัขกำลังถูกงูกัดแบบจังๆ หรือแบบคาหนังคาเขา แต่มักจะพบว่าสุนัขร้องลั่น วิ่งเตลิดออกมาจากที่รกๆ หรือตามพงหญ้า พร้อมด้วยอาการ ขากระเพลก ไม่ใช้ขาข้างใดข้างหนึ่ง (ที่ถูกกัด) เห็นรอยแผล และมีเลือดซึมจากรอยเขี้ยว การสังเกตุแผลที่ถูกกัด ก็พอจะบอกได้ว่างูที่กัดเป็นงูพิษหรือไม่ ถ้าเป็นงูไม่มีพิษ ลักษณะแผลมักจะเป็นรอยฟันเป็นแถวรูปตัวยู (u) ไม่เป็นรอยเขี้ยว 2 รู ซึ่งเป็นลักษณะรอยเขี้ยวของงูพิษ

อาการของสุนัขเมื่อถูกงูกัดเป็นอย่างไร

ขึ้นอยู่กับชนิดของงู ว่าไม่มีพิษ พิษน้อย หรือพิษร้ายแรง ซึ่งพบตั้งแต่ ไม่เป็นไรเลย บวมเล็กน้อย ปัสสาวะเป็นเลือด จนกระทั่งหอบ อัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการรักษา

เมื่อสุนัขโดนงูกัด เราจะทำตัวอย่างไร

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น ก็ขึ้นกับว่าถูกงูประเภทใดกัด ถ้าเป็นพวกไม่มีพิษ ก็ทำได้โดย ตัดขนบริเวณแผลถูกกัด ล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่นทิงเจอร์ หรือเบตาดีน แล้วพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อให้ยาตามอาการอักเสบ บวม ปวด ตามอาการ

แต่ถ้าเป็นงูพิษกัดนั้น การปฐมพยาบาลจะมีขั้นตอนมากขึ้น หลักการก็คือ

1.ป้องกันการแพร่กระจายของพิษงูไปตามกระแสเลือด โดยการขันชะเนาะ (tourniquet) ระหว่างบาดแผลกับหัวใจ โดยการใช้สายยางเล็กๆ เชือก หรือสายน้ำเกลือ รัดเหนือบาดแผลให้ตึงพอประมาณ แค่พอให้สอดปลายปากกาเข้าไปได้ ไม่ใช่ว่าเลือดไหลผ่านไม่ได้เลย แค่ชลอให้พิษผ่านไปตาม “หลอดน้ำเหลือง” และ “หลอดเลือดดำ” ช้าลงเท่านั้น แล้วรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน (ในกรณีที่การเดินทางใช้เวลาเกิน 30 นาที ต้องมีการคลายเชือกที่รัดไว้สัก ครึ่ง ถึง 1 นาที แล้วรัดต่ออีก) บางคนอาจใช้ผ้ายืด (elastic bandage) พันบริเวณที่ถูกงูกัด เหนือขึ้นไปเล็กน้อยและใต้แผลเล็กน้อย ให้ตึงและแน่นพอสมควรก็ได้

2.ให้สัตว์อยู่นิ่งๆที่สุด เพื่อให้เลือดสูบฉีดช้าลง พิษจะได้เข้าสู่หัวใจช้างลงด้วย

3.บางตำราอาจแนะนำให้กรีดแผล และให้รีดพิษออก แต่ผมแนะนำว่า เราในฐานะเจ้าของควรรีบพาสัตว์ส่งคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์โดยด่วนที่สุดจะดีกว่า และส่งหน้าที่การรักษาต่อให้สัตวแพทย์เพื่อให้ซีรั่ม (เซรุ่ม) แก้พิษงู และให้ยาตามอาการเช่น ยาลดปวด ลดบวม ลดการแพ้ ลดอักเสบ และ/หรือ ยาปฎิชีวนะตามความเหมาะสม

4.สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ให้เอาซากงู (ที่เจ้าของสุนัขส่วนใหญ่ มักจะตีงูจนตาย) ไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย เพื่อจะได้เลือกใช้ซีรั่มแก้พิษงูได้ตรงกับชนิดของพิษงูที่กัด

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “สติ” ครับ อย่าตื่นเต้นตกใจ จนเกิดอาการ “ลน” จนทำอะไรไม่ถูกเสียล่ะครับ โอกาสรอดตายของเจ้าหมาน้อยจะมีสูง ถ้าปฏิบัติอย่างถูกวิธีและพาไปถึงมือสัตวแพทย์ได้ทันเวลา

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Shares:
QR Code :
QR Code