“สายตาสั้นเทียม” ใช่คุณหรือเปล่า

ปัจจุบัน “โลกออนไลน์และการใช้สมาร์ทโฟน” มีผลกับการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป และผลกระทบทางสุขภาพกายใจ ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้ผู้ใช้มีอาการซึมเศร้า ละเมอแชต หรือติดโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพของ “ดวงตา” อย่างมีนัยสำคัญ


“ภาวะสายตาสั้นเทียม” ใช่คุณหรือเปล่า  thaihealth


…ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2557 เผยว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากที่สุด ถึงร้อยละ 77 โดยเฉลี่ยใช้วันละ 7.2 ช.ม. เพิ่มขึ้น 2.6 ช.ม. จากปี 2556…


จากข้อมูลนี้กล่าวโดยสรุปได้ว่า เมื่อมีการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ย่อมส่งผลให้คนไทยมีปัญหาทางสายตามากขึ้นด้วย ยุคนี้หลายคนที่เคยสายตาดี เมื่อสายตาเริ่มมัว ก็เลยเข้าใจว่า ตนเองมีสายตาสั้นขึ้น แต่พอไปตรวจและวัดสายตาแล้วอาจพบว่า สายตาปกติ ชวนให้สงสัยว่าจริงๆ แล้ว เรานั้น  “สายตาสั้นเทียม” หรือ “สายตาสั้นจริง”


ทำความรู้จัก “สายตาสั้นเทียม”


รศ.(พิเศษ) พญ.โสฬส วุฒิพันธุ์ ฝ่ายวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลน่ารู้ว่า ในช่วง 1 – 2 ปีนี้ตรวจพบ ภาวะสายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) ของคนไข้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากยุคสมัยที่ทุกคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ และมองคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา โดยการ “เพ่ง” ที่มากเกินไปและนานเกินไปนี้ จะทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในตามีความผิดปกติ


“สายตาสั้นเทียม เกิดจากการหดตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในลูกตา โดยปกติเรามองดูของที่อยู่ใกล้ กล้ามเนื้อเล็กๆ ในตาจะหดตัวเพื่อให้เลนส์ตาโป่งออก ทำให้สภาพตาในขณะนี้เสมือนเป็นคนสายตาสั้น เราจึงมองเห็นของที่อยู่ใกล้ชัดขึ้น แต่พอเราเลิกมองใกล้ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะคลายตัวโดยอัตโนมัติ ทำให้เราเห็นของที่ไกลชัดขึ้น ซึ่งปกติกล้ามเนื้อส่วนนี้ จะหดและคลายตัวสลับกันไปมาตลอด แต่หากเราใช้สายตาเพ่งดูจอมือถือหรือคอมพ์นานเกินไป ก็จะทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในตามีความผิดปกติได้ กล่าวคือ สายตาไม่คลายตัวแม้ไม่ได้มองใกล้แล้ว เพราะกล้ามเนื้อหดตัวเกือบตลอดเวลาทำให้มีอาการเสมือนอยู่ในสภาพสายตาสั้น มองไม่ชัด แต่เมื่อใส่แว่นสายตาสั้น กลับมองชัดขึ้น” คุณหมออธิบาย


“ภาวะสายตาสั้นเทียม” ใช่คุณหรือเปล่า  thaihealthรู้ได้อย่างไร “สายตาสั้นเทียม”


คุณหมอผู้เชี่ยวชาญ อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการของสายตาสั้นเทียมและสายตาสั้นจริง ส่วนที่เหมือนกันคือมองไกลไม่ชัดทั้งคู่ แต่สำหรับสายตาสั้นเทียมนั้นมีข้อสังเกตคือ มีอาการมองไม่ชัดค่อนข้างจะทันที เช่น ตามัวมา 1 อาทิตย์ ขณะที่สายตาสั้นจริงจะค่อยๆ มองไม่ชัดมานาน นอกจากนี้สายตาสั้นเทียม จะยังมีอาการปวดตาปวดหัว บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยหลังการใช้สายตามากๆ หรือนานๆ จะมีอาการตามัวมากขึ้น


“นอกจากนี้ การวัดสายตาแล้วได้ค่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่แน่นอน หรือเมื่อวัดสายตาหลังหยอดยาขยายม่านตาแล้วพบว่าค่าสายตาสั้นน้อยกว่าค่าที่ได้ก่อนหยอดยา ก็นับเป็นสายตาสั้นเทียมด้วย หรือเมื่อวัดสายตาแล้วสั้น -4.00 ลองใส่แว่น -4.00 แล้วยังเห็นไม่ชัด แต่ชอบแว่นที่สั้นมากกว่าสายตาที่วัดได้ เช่น ใส่แว่น -5.00 แล้วชัดมาก ก็แสดงว่าคนนี้มีภาวะสายตาสั้นเทียมเช่นกัน


ซึ่งในบางคนวัดสายตาอย่างเดียวยังไม่ชัดเจน หากให้หยอดยาขยายม่านตา ซึ่งช่วยทำให้กล้ามเนื้อในลูกตาที่หดตัวผิดปกติคลายออก แล้วลองวัดค่าสายตาใหม่ ถ้าวัดได้น้อยกว่าที่ตอนแรกวัดได้ เช่น ก่อนหยอดยา วัดสายตาสั้น -4.00 หลังหยอดตาวัดแล้วไม่มีสายตาสั้นเลย แสดงว่ารายนี้ก็มี สายตาสั้นเทียม”


ฉะนั้น หากสงสัยว่า สายตาสั้นเทียมหรือไม่ เหตุใดใส่แว่นแล้วยังเห็นไม่ชัด หรือใส่แล้วมีอาการปวดหัวร่วมด้วย การพบจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจรักษาเพื่อดูแลสุขภาพตา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย


“ภาวะสายตาสั้นเทียม” ใช่คุณหรือเปล่า  thaihealthสายตาสั้นเทียม” รักษาได้


การดูแลสุขภาพตา หรือป้องกันภาวะสายตาสั้นเทียมในผู้ใหญ่ ควรพักสายตาเมื่อต้องทำงานแล้วเพ่งดูอะไรใกล้ใกล้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน โดยควรพักสายตาทุก 30 นาที ด้วยการมองไกลๆ หรือไม่ต้องจ้องอะไรก็ได้ นาน 5 นาที” จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ


“ด้านการบริหารตาเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า สามารถรักษาภาวะสายตาสั้นเทียมได้ ให้ระวังว่าการบริหารตาโดยเฉพาะการเพ่งมอง อาจทำให้อาการแย่ลง นอกจากนี้ หากมีอาการ “ตามัว” มองไกลไม่ชัด อย่าเพิ่งคิดเอาเองว่า สายตาเราเพิ่มขึ้น แล้วไปตัดแว่นสายตาสั้นที่มีค่ามากกว่าเดิมมาใส่เอง แต่ควรตรวจเช็กอาการอย่างละเอียด รวมไปถึงลดการใช้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ให้น้อยลง” รศ.(พิเศษ) พญ.โสฬส กล่าว


สำหรับการป้องกัน ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เลย ส่วนเด็กที่โตกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน


 


 


เรื่องโดย : ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code