สายดื่มระวังเสี่ยงลำไส้แตก

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


สายดื่มระวังเสี่ยงลำไส้แตก  thaihealth


แฟ้มภาพ


          กรณีโลกออนไลน์ สมาชิกเฟซบุ๊กชื่อว่า “Wananon Pradmontin” โพสต์ข้อความเตือนเรื่องการดื่มสุรา ระบุว่า “ขอเขียนอะไรมีประโยชน์หน่อยละกัน คนไข้มาด้วยอึดำ อ้วกเป็นเลือดถึง 4 คน เกริ่นก่อนว่านี่คือเรื่องเหล้าที่เห็นในมือไม่ใช่ขี้นะ จริงๆ มันคือเลือด เลือดที่ไหลซึมจากหลอดอาหาร เป็นเลือดที่หมักหมมอยู่ในลำไส้แตก โดนแบคทีเรียในลำไส้ย่อยสลายมาอย่างน้อยก็ 12 ชม. จนเป็นสีดำเหนียว” ภายหลังจึงมีการแชร์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ ตามที่ปรากฏบนโลกออนไลน์


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 11 ก.ย. “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้สอบถามไปยัง นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร อ.ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิจัยในศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความรู้ว่า ปกติแล้วถ้าคนไข้มาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือดและถ่ายอุจจาระสีดำเหนียว จะสงสัยภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนบน โดยส่วนใหญ่แล้วสาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุด คือ โรคบาดแผลที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก และโรคเส้นเลือดในหลอดอาหารแตก ซึ่งเมื่อผู้ป่วยอาเจียนออกมาจากตำแหน่งดังกล่าวจึงมีสีแดงสด แต่หากเลือดดังกล่าวไหลออกทางทวารหนัก จะกลายเป็นสีดำเหนียวคล้ายยางมะตอย เนื่องจากสารในเม็ดเลือดแดงในเลือดได้รวมกับกรดในกระเพาะอาหาร เลือดสีแดงสดกลายเป็นสีดำเหนียว ทั้งนี้การดื่มสุราติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน คือ สาเหตุหลักของโรคตับแข็ง ซึ่งมีโรคเส้นเลือดในหลอดอาหารแตก เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการอาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระสีดำเหนียวดังกล่าวได้


          “เบื้องต้นแพทย์ประเมินภาวะวิกฤตฉุกเฉิน ที่อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยอาจให้สารน้ำหรือเลือดทดแทนทางหลอดเลือดดำกับคนไข้ รวมถึงอาจใส่สายสวนทางจมูกเพื่อหาสาเหตุ ก่อนที่จะปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร เพื่อส่องกล้องตรวจทางปากเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและให้การรักษาที่ถูกต้อง การดื่มสุราเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคตับแข็ง (สาเหตุอื่นๆ เช่น ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ) ที่จะทำให้เซลล์ตับได้รับความเสียหาย และมีลักษณะที่เนื้อตับเกิดพังผืด ซึ่งจะทำให้การทำงานขอบตับเสียไป และส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้ความดันเลือดสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคเส้นเลือดในหลอดอาหารแตกได้” นักวิจัยในศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ระบุ


          นพ.พลเทพ กล่าวต่ออีกว่า จากงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบัน ผู้ชายถ้าดื่มวันละ 60-80 กรัมของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/วัน ส่วนผู้หญิง 20 กรัมของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/วัน ติดกัน 10 ปีหรือมากกว่า จะเสี่ยงเป็นโรคตับแข็ง ถ้าจะอธิบายง่าย ๆ 10 กรัมของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (1 หน่วยดื่มมาตรฐาน) จะประมาณได้กับเบียร์ 1 กระป๋อง หรือไวน์ 1 แก้ว หรือเหล้า 1 เป็ก หรือไวน์คูลเลอร์ 1 ขวด เมื่อป่วยเป็นโรคตับแข็งแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับได้


       


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ