‘สามพราน’ ดินแดนแห่งเกษตรอินทรีย์

‘สามพราน’ ดินแดนแห่งเกษตรอินทรีย์

จากการดำเนินหลักสูตรสร้างเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อ.สามพราน ตั้งแต่ต้นปี 2556 – เดือนตุลาคม รวมระยะเวลา 10 เดือน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายอย่างสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม ที่เปิดพื้นที่ในวันเสาร์อาทิตย์ให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวในชื่อ “ตลาดสุขใจ”

ขณะเดียวกันได้จัดพื้นที่สาธิตรูปแบบการเกษตรอินทรีย์ พร้อมเปิดอบรมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้กับเกษตรกร ปัจจุบันมีเกษตรกรพร้อมปรับเปลี่ยนการผลิตมาเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ทันที 116 ราย และมี 128 ราย ที่ยื่นแบบฟอร์มขอมาตรฐาน organic thailand หรือ การตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ 10 รายได้ยื่นขอมาตรฐาน ifoam หรือ ตรารับรองเกษตรอินทรีย์ซึ่งผ่านการตรวจสอบ

อรุษ นวราช ผู้จัดการทั่วไป สามพรานริเวอร์ไซด์ บอกว่า ตลาดสุขใจเปิดมาแล้ว 3 ปีขณะนี้มีนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายวันละประมาณ 700 คน สามารถเชื่อใจว่าที่นี่เป็นสินค้าเกษตรปลอดสารจริง เพราะภายในตลาดจะมีการสุ่มตรวจสารตกค้างทุกครั้ง พร้อมมีมาตรการลงโทษให้พ่อค้าแม่ค้าหยุดขายทันทีหากตรวจผักผลไม้ แล้วพบสารตกค้างเกินปริมาณที่กำหนดขณะเดียวกันสวนสามพรานเราก็นำวัตถุดิบที่มาจากเกษตรกรเหล่านี้มาปรุงอาหารให้กับแขกที่มาพักได้รับประทานด้วย

“การสนับสนุนให้เกษตรกรที่สวนสามพรานให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงตลาดสุขใจ เราจะเป็นผู้ประสานหาตลาดผู้ซื้อรายใหญ่ หาผู้รู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่ผ่านได้รับการสนับสนุน จาก สกว.ม.เกษตร ดีแทค เป็นต้น โดยเน้นใช้วัตถุดิบที่มีพื้นที่ เช่น การทำฮอร์โมนจากผลไม้ในสวน เลี้ยงไส้เดือนฝอย สอนอบรมให้เกษตร ทำไปใช้เอง ไม่อยากให้ซื้อแม้จะมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปออกมาขายแต่เพื่อลดต้นทุนเราอยาก ให้เขาทำเอง เกษตรอินทรีย์คือเกษตรปราณีต แทบไม่ต้องลงทุนแค่ลงแรงเท่านั้น” การปลุกพลังเกษตรกรของสวนสามพรานกำลังเดินหน้าไปพอสมควร ภายใต้การทำงานแบบมีวิชาการ วิทยาศาสตร์ ที่ผู้เชี่ยวชาญจากโรคพืช แมลง และนักวิชาการเรื่องดินต่าง ๆ ที่ประจำการอยู่ที่ทำงานของศูนย์พัฒนาเกษตรกร เกษตรอินทรีย์สุขใจ  ณ สวนสามพรานฯ สามารถให้คำตอบและแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ทันที โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่เกษตรสวนสามพรานเท่านั้น

เกษตรกรทั่วประเทศและผู้สนใจแวะ เวียนไปสอบถามข้อมูลและเข้ารับการอบรมทำเกษตรอินทรีย์ได้ เพื่อให้คนทั่วประเทศได้รับรู้ข้อมูลการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย ล่าสุด ศูนย์พัฒนาเกษตรกร เกษตรอินทรีย์สุขใจ ได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.sukjaiorganic.com เพื่อกระจายองค์ความรู้ในระดับกว้างมากขึ้น

“เว็บไซต์ศูนย์พัฒนาเกษตรกร เกษตรอินทรีย์สุขใจ จะรวบรวมองค์ความรู้ด้านพืชอินทรีย์ตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การ เริ่มผลิต การดูแลรักษา ข้อมูลโรคและแมลง ในพืชอินทรีย์ จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว แบบเข้าใจง่ายให้เกษตรกรเข้าไปศึกษาข้อมูล รวมถึงรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวงการ เกษตรอินทรีย์ เปิดพื้นที่ให้ได้ถามตอบโดย ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งถือเป็นการสื่อสารสองทางระหว่างผู้ผลิตกับนักวิชาการ เพื่อสร้างเครือข่ายและพันธมิตรด้านอาหารปลอดภัย” รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว

นายพีระพงษ์ กลิ่นลออ ผู้อำนวยการมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ในฐานะพันธมิตรของ สสส. จึงร่วมกับสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน และศูนย์พัฒนาเกษตรกร เกษตรอินทรีย์สุขใจ  นำความก้าวหน้าในยุคดิจิทัลมาผสมผสานภายใต้วิสัยทัศน์ อินเทอร์เน็ต ฟอร์ ออล ให้ภาคเกษตรไทยเป็นเกษตรแบบก้าวหน้า โดยกระจายความรู้สู่เครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศได้ตลอดหรือ แบบเรียลไทม์ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือด้วยบริการเอสเอ็มเอส 1677 ฟรี ซึ่งเกษตรกร จะติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตรได้แบบวันต่อวัน จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบและเปรียบเทียบราคาสินค้าได้ทุกวัน จากแหล่งรับซื้อทั่วประเทศ ก่อนนำไปขายเพื่อให้ได้ราคาดี และในอนาคตเกษตรกรสามารถยกระดับนำสินค้าเกษตรของตนเองมาขายในโลกของอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ช่องทางการขายสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและในต่างประเทศ

น.ส.ปฐมพร น้อยพิทักษ์ หรือ “ยิ้ม”เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 28 ปี จากคลองจินดา อ.สามพราน บอกเล่าถึงการตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนของที่บ้านว่า สาเหตุสำคัญคือพ่อป่วยเป็นมะเร็งทำให้ขาดแคลนแรงงานในการฉีดยาในสวนซึ่งมีอยู่ถึง 10 ไร่จึงปรับมา ใช้เกษตรอินทรีย์ภายหลังการเข้าอบรมตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมากับศูนย์ เกษตรอินทรีย์สุขใจ โดยใช้วิธีค่อย ๆ ลดปริมาณการใช้สารเคมีลง สิ่งที่พบในช่วงแรกคือผลผลผลิต เช่น กล้วยเล็บมือนาง ส้มโอ ฝรั่ง มะนาวไม่สวย ลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าจะพูดบ้างว่าไม่สวย แต่พยายามอธิบายให้เขาฟังว่า ไม่ใช้ยาแล้ว

“นานวันเข้าลูกค้าฟังเขาเข้าใจ และซื้อสินค้าของเรามากขึ้น มีขาประจำ เช่น คนป่วยที่เป็นเบาหวานซื้อฝรั่งของเราไปปั่นกินอาทิตย์ละ 10 ก.ก. หากไม่ปลอดภัยจริงมีสารเคมีโดยเฉพาะคนป่วยจะกินไม่ได้นะเขาได้สารเคมีไปในร่างกายเยอะ กลับกลายเป็นว่าเรามีลูกค้าที่เป็นขาประจำมากขึ้น รอซื้อสินค้าจากเรา จะไปขายอาทิตย์ละครั้งที่ตลาดนัดท่าฉลอม”

ยิ้มบอกเพิ่มเติมว่า เมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ผลผลิตไม่ลดแต่ไม่สวย อาจจะเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาเราใช้เคมีไปเร่งให้ต้นไม้ออกลูกออกผล ผิดธรรมชาติของเขา แต่เรื่องรสชาตินั้นยอมรับว่าใช้อินทรีย์บางชนิดรสชาติดีขึ้น เช่น ส้มโอ ฝรั่ง แต่เราก็ต้องดูแลอย่างดีเข้าสวนเกือบทุกวัน ระวังไม่ให้เพลี้ยระบาด หากเกิดขึ้นเราก็แย่เหมือนกัน

ขณะนี้สวนผลไม้ผสมผสานของยิ้ม และแม่ที่ดูแลกัน 2 คน หลังจากที่พอเสียชีวิต ไปปีเศษ กำลังพัฒนาให้เป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐาน ifoam รอใบรับรองผล ซึ่งแน่นอนสินค้าจากสวนของคนรุ่นใหม่ อย่างยิ้มที่เคยไปศึกษาเรื่องการเกษตรที่เยอรมนีมากว่า 2 ปี กำลังเป็นต้นแบบที่ ไม่เฉพาะเรื่องของเกษตรอินทรีย์เท่านั้นแต่เป็นบทพิสูจน์ว่าเด็กเจนวายอย่างยิ้ม ต่อยอดวิถีเกษตรให้มีมาตรฐานระดับโลกได้

ทั้งนี้ เกษตรกรหรือผู้สนใจรายละเอียดการผลิตพืชอินทรีย์แบบครบวงจร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นางสาวพิมพ์พนิต จันทร์โอทาน ผู้อำนวยการศูนย์เกษตรอินทรีย์สุขใจ หมายเลขโทรศัพท์และแฟกซ์  0-3422-5203

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code