สานภูมิปัญญา “ชาวนา”วัยโจ๋

เพื่อเกษตรไทยที่ยั่งยืน

 

สานภูมิปัญญา “ชาวนา”วัยโจ๋

              การทำนาในปัจจุบันส่วนใหญ่มีเป้าหมายคือการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้มากที่สุด ทำให้รูปแบบการทำนาแบบพึ่งพาตนเองและธรรมชาติที่เคยมีมาในอดีตเปลี่ยนไปสู่การทำนาพึ่งพาปุ๋ย ยา และสารเคมี

 

              สิ่งที่ตามมาคือ “ชาวนา” ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตจำนวนมาก วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมการรวมกลุ่ม อาทิ การลงแขกเกี่ยวข้าว งานบุญประเพณีต่างๆ เริ่มเลือนหาย

 

              บ้านหนองบัวฮี ตำบลหนองบัวฮี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา และประสบกับปัญหาดังกล่าว เพราะการทำนาสมัยใหม่ทำให้ชาวบ้านต้องปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีจนผืนดินไม่มีโอกาสพักตัว ทำให้ดินแข็งและเริ่มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากขาดธาตุอาหาร ผลที่ได้คือข้าวไม่งอกงาม ชาวนาต้องใส่ทั้งปุ๋ย ยา และสารเคมีจำนวนมาก เพื่อแก้ปัญหา นั่นหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงเพิ่มขึ้นทุกปี

 

              กิจกรรม “การสืบสานปณิธานชาวนาทฤษฎีใหม่” ของ “กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาหนองบัวฮี” จึงเกิดขึ้น โดยร่วมกับ “โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน” มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องการเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในวิถีบรรพบุรุษ โดยนำเรื่อง “พันธุ์ข้าวพื้นเมือง” มาใช้ขยายผลแนวคิดการพึ่งพาตนเองอย่างพอเพียง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

              นายคิด แก้วคำชาติ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา เล่าว่า กิจกรรมนี้นำเรื่องการปลูกข้าวทฤษฎีใหม่ที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลผลิตสูง แตกต่างจากรูปแบบการทำนาของชุมชนที่พวกเขาคุ้นเคยมาสร้างความท้าทายและดึงดูดความสนใจให้กับเด็กๆ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเด็กและเยาวชนจะร่วมกันเรียนรู้กระบวนการทำนาในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว แล้วนำมาวิเคราะห์ผลที่ได้ เก็บข้อมูลการทำนารูปแบบใหม่เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้และค่าใช้จ่ายการทำนาในปัจจุบัน

 

              “แนวคิดการปลูกข้าวทฤษฎีใหม่ สร้างความท้าทายกับเด็กๆ ตั้งแต่เรื่องการแกะเมล็ดข้าวเพื่อคัดเลือกพันธุ์ แล้วนำไปปลูกซึ่งเด็กไม่เคยเห็น หลังจากปลูกแล้วจะตรวจนับต้นข้าว การแตกกอ วิเคราะห์หาสาเหตุร่วมกัน เราใช้ข้าวพื้นบ้านจำนวน 3 สายพันธุ์มาให้เด็กเรียนรู้ พบว่าข้าวที่ปลูกต้นจะใหญ่ แข็งแรง ออกรวงเยอะ ทนต่อโรค แตกต่างจากข้าวที่ใช้สารเคมีหรือพันธุ์ข้าวทั่วไป

 

              เราต้องการให้เด็กเป็นคนสร้างการเปลี่ยน แปลงแนวคิดการปลูกข้าวของชุมชน โดยเริ่มต้นจากครอบครัวด้วยการให้เด็กไปขอที่นาแปลงเล็กๆ เพื่อทดลองปลูกข้าวด้วยวิธีใหม่ เพื่อให้พ่อแม่เห็นว่าการปลูกข้าวแบบไม่ใช้ปุ๋ยและยา ผลผลิตที่ได้ก็ออกมาดีเหมือนกัน แถมยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าด้วย” นายคิดกล่าว

 

              นายสุรพงษ์ ด้วงทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวฮีวิทยาคม กล่าวว่า กิจกรรมนี้ปลูกจิตสำนึกให้เด็กๆ ในเรื่องการดำรงชีวิตภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การที่เด็กได้เรียนรู้การทำนาแบบเกษตรทฤษฎีใหม่จะส่งผลดีต่อตัวเขาเองและครอบครัวในอนาคต

 

              “เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นนโยบายอีกด้านหนึ่งที่ทางโรงเรียนให้ความสำคัญ เพราะเป็นหลักคิดที่จะช่วยให้เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ดำรงชีวิตเหมาะสม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฝ่ายวิชาการของโรงเรียนมีแนวคิดขยายผลการทำนาทฤษฎีใหม่ออกไปสู่ชุมชนรอบๆ โรงเรียน และบูรณาการแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนรวมทั้งในกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้น” ผอ.โรงเรียนหนองบัวฮี ระบุ

 

              น้องต้น นายชาญยุทธ ดุจดา ชั้นม.5 โรงเรียนหนองบัวฮีวิทยาคม เล่าถึงความแตกต่างระหว่างการทำนาที่บ้านและที่แปลงนาสาธิตของโรงเรียนว่า ที่บ้านจะใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้า แต่นาของโรงเรียนใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ทำขึ้นเอง และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่เราขยายพันธุ์เก็บไว้ใช้เองคือ “หอมสามกอ” และ “มะลิดำ”

 

              “ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือข้าวของโรงเรียนซึ่งเป็นพันธุ์พื้นบ้านจะมีขนาดเมล็ดที่ใหญ่กว่า มีจำนวนเมล็ดต่อรวงมากกว่า และค่าใช้จ่ายในการทำนาก็ถูกกว่า” น้องต้นระบุ

 

              ด้าน น้องนง น.ส.อนงค์นาฏ ทองทับ ชั้นม.5 บอกว่า จะนำการทำนารูปแบบใหม่นี้ไปใช้กับแปลงนาสาธิตที่บ้าน เพื่อเปรียบเทียบกับการทำนาของพ่อแม่ในปัจจุบันที่ใช้สารเคมี เพื่อดูว่าผลผลิตที่ได้จะแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งพ่อแม่ก็สนใจเพราะต้นทุนที่ใช้ต่างกันมาก

 

              “ข้าวจากนาสาธิตในโรงเรียนที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพจะให้ผลผลิตแตกต่างกับที่บ้าน รวงข้าวจะใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่า ที่สำคัญข้าวพันธุ์พื้นบ้านยังมีน้ำตาลน้อยกว่าข้าวพันธุ์ กข.15 และ กข.16 ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคเบาหวานซึ่งเกิดจากการกินข้าวพันธุ์เดียวได้อีกด้วย” น้องนงระบุ

 

              นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส. กล่าวว่า การที่เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้อาชีพทำนาของพ่อแม่ เขาจะเห็นคุณค่าการทำงานที่มากกว่าการแสวงหาเงินตรา เพราะข้าวเป็นเรื่องวิถีชีวิต การที่เด็กมีโอกาสซึมซับเรื่องเหล่านี้ เขาจะได้เรียนรู้ในอาชีพที่เป็นมรดกของปู่ย่าตายาย ได้รับการถ่ายทอดทักษะ ภูมิปัญญา แง่มุมต่างๆ

 

              “ในด้านจิตใจ เขาเกิดความภาคภูมิใจ เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดอาชีพที่มีเกียรตินี้ต่อไป”

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

 

update: 18-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code