สานพลัง MOU ขับเคลื่อนการเล่นอิสระสร้างสุข (Happy Play) ดันโมเดล “หนองบัวลำภูเมืองเล่นอิสระสร้างสุข”
ที่มา: พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อน จ.หนองบัวลำภู
สสส.-มยพ.-สสย.-เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก-จ.หนองบัวลำภู MOU ขับเคลื่อนการเล่นอิสระสร้างสุข (Happy Play) ดันโมเดล “หนองบัวลำภูเมืองเล่นอิสระสร้างสุข” เด็กยิ่งเล่น ยิ่งสนุก มีความสุขและฉลาด
เร็วๆ นี้ ที่สนามกีฬากลางจังหวัดหนองบัวลำภู อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก และจังหวัดหนองบัวลำภู จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อน จ.หนองบัวลำภู โดยใช้การเล่นอิสระเป็นเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี เพิ่มกิจกรรมทางกาย ส่งเสริมทักษะสมอง EF ลดเวลาหน้าจอ เพิ่มพฤติกรรมเชิงบวกภายใต้ความเชื่อร่วมกันว่า การเล่นอิสระคือรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก “เด็กยิ่งเล่น ยิ่งสนุก มีความสุขและฉลาด”
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า การดำเนินงานส่งเสริมการเล่นอิสระใน จ.หนองบัวลำภู ได้เริ่มภายหลังจากเหตุการณ์ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง เมื่อปี 2565 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพจิตใจของเด็ก ครอบครัว และผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็กในพื้นที่ โดยการดำเนินการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากกรมสุขภาพจิต สสส. และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ในการลงพื้นที่เพื่อนำแนวคิดและกระบวนการ “เล่นอิสระ” มาใช้เยียวยาและฟื้นฟูจิตใจของเด็ก ทั้งในพื้นที่ความรุนแรงและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และพบว่าการเล่นอิสระสามารถฟื้นฟูความสุขของเด็กกว่า 80% และเด็กสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ สสส. ได้สำรวจความคิดเห็นและความต้องการของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งเด็ก เยาวชน ครู คณะผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า พื้นที่มีความต้องการที่อยากจะเรียนรู้และพัฒนาเด็กผ่านการเล่นอิสระ และมีเป้าหมายที่อยากใช้การเล่นอิสระสร้างความสุขให้เด็ก พัฒนาทักษะชีวิต และลดเวลาการใช้หน้าจอของเด็ก สสส. จึงให้การสนับสนุนจนเกิดการดำเนินงานส่งเสริมการเล่นอิสระพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
น.ส.ประสพสุข โบราณมูล เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กล่าวว่า “การเล่นอิสระ” คือ ความสุขของเด็ก และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทุกมิติของเด็ก ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นตามความต้องการของตนเองอย่างเป็นธรรมชาติ ปราศจากการชี้นำ ควบคุม หรือคาดหวังจากผู้ใหญ่ เด็กเป็นผู้กำหนดวิธีการเล่นด้วยตนเองตามจินตนาการและความสนใจ โดยมีผู้ใหญ่ทำหน้าที่เฝ้าสังเกต ดูแลความปลอดภัย และคอยสนับสนุนอย่างเหมาะสม การปล่อยให้เด็กได้เล่นโดยไม่แทรกแซง จะช่วยให้เด็กรู้สึกสนุก ผ่อนคลาย สมองตื่นตัว และพร้อมเปิดรับการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งยังช่วยบำบัด เยียวยา ลดความเครียด ค้นพบตัวเอง และสร้างพื้นฐานทักษะชีวิตที่มั่นคงสำหรับการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตในสังคม
น.ส.ปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) กล่าวว่า การส่งเสริมการเล่นอิสระสร้างสุขในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เริ่มที่อำเภอนากลาง และอำเภอเมือง และปัจจุบันครอบคลุม 6 อำเภอ บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายถึง 99% ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในนามเครือข่าย “Happy Play หนองบัวลำภู” มีการพัฒนายกระดับพื้นที่ต้นแบบ พร้อมขยายผลการดำเนินงานให้ พื้นที่นำร่องครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัด ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานทั้งสิ้น 60 พื้นที่ มีครูผู้อำนวยการเล่น หรือ Play worker โรงเรียนระดับประถมพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่นำร่อง จำนวน 206 คน มีครู Play worker ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 166 คน เป็นกลไกสำคัญในการทำงานพัฒนาเด็กผ่านการเล่น มีเด็กที่มีโอกาสเข้าถึงกการเล่นอิสระ 15,000 คน จากการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงเด็กอายุ 2-12 ปี ในพื้นที่ดำเนินงาน พบเด็กมีความสุขเพิ่มขึ้น มีสมรรถนะผ่านการเล่นอิสระเพิ่มมากขึ้นชัดเจนโดยเฉพาะด้านการจัดการอารมณ์ ยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์เมื่อโกรธ การให้อภัย ความมุ่งมั่น ความกล้าเผชิญกับความท้าทาย สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ การช่วยเหลือเกื้อกูล การแก้ไขปัญหา การจัดการ และการปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และมีกรณีศึกษาแบบมีส่วนร่วมของผู้ปกครองการเล่นอิสระลดเวลาและครู ศพด. พบว่า การเล่นอิสระช่วยให้เด็กลดเวลาการใช้มือถือและการใช้หน้าจอได้จริง และผู้ปกครองมีความสุขเพิ่มขึ้นมีแนวทางในการพัฒนาลูกหลาน นอกจากนี้กระบวนการเล่นอิสระทั้งในโรงเรียน ศพด. และชุมชน ส่งผลให้ทำให้เกิดมิติความสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้น รักสามัคคีเกื้อกูลกันทุกวัย
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จ.หนองบัวลำภู กำหนดให้ “การเล่นอิสระ” เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษาในทุกมิติ สอดคล้องกับเป้าหมาย การพัฒนาจังหวัด ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีแนวทางพัฒนาในการส่งเสริมสังคมสุขภาวะเพื่อคนทุกช่วงวัย ภายใต้แนวคิด “หนองบัวลำภู เปิดประตูความสุข… อย่างสร้างสรรค์” (5 สุข 5 สร้างสรรค์) โดยเฉพาะสุขที่ 2 การศึกษาในและนอกระบบ และสุขที่ 4 พื้นที่สุขใจสาธารณะ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการเล่นอิสระเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ MOU สสส. และภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริม “การเล่นอิสระ” ให้เป็นความสุขของเด็ก และเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในมิติการป้องกันและการพัฒนา โดยการเล่นอิสระช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า ลดพฤติกรรมการใช้สื่อหน้าจอในเด็ก และสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี เป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา นอกจากนี้ยังช่วยค้นหาปัญหาเฉพาะรายของเด็กแต่ละคน ฟื้นฟูพฤติกรรมเชิงบวก และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็ก ครอบครัว ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน สอดคล้องกับนโยบาย “เก่ง ดี มีสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบาย “มหัศจรรย์ 1000 วันแรกของชีวิต” และ“เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก” ของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ในเด็กปฐมวัย
โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ 3 ข้อ ดังนี้ 1. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาผู้อำนวยการเล่น (Playworker) ให้มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการเล่นอิสระในรูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และชุมชน ตอบสนองต่อความต้องการของเด็กและครอบครัว 2. เพื่อรณรงค์และสื่อสารสาธารณะให้เกิดความตระหนักรู้และเปิดโอกาสให้เด็กและครอบครัวเข้าถึงการเล่นอิสระอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดมหกรรมการเล่นอิสระในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หรือชุมชน 3. เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายที่ส่งเสริมการเล่นอิสระ เพื่อการพัฒนาเด็กในระดับองค์กร ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ พัฒนาสังคม ชุมชน และครอบครัวในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งทุกฝ่ายจะร่วมกันพัฒนา ให้หนองบัวลำภูเป็นระยะเวลา 2 ปี