สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่อนาคต รับมือความเปลี่ยนแปลงสังคมโลก ทศวรรษที่สาม กับ สสส.
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : พิธีปิดงาน เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ปิดท้ายอย่างน่าประทับใจวันสุดท้าย 9 กรกฎาคม 2566 กับ เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทั่วประเทศ ที่มีจำนวนถึง 3,526 ตำบล ได้เป็นตัวแทนเดินทางเข้ามาร่วมสานพลัง แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ต่อยอดการสร้างรากฐานชุมชนที่แข็งแรงกว่าเดิม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่าง วันที่ 7 -9 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับการได้รับรู้ผลงาน ที่ทาง สสส. ได้ร่วมพัฒนาแนวทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในบริบทสังคมไทยกับภาคีเครือข่ายมากกว่า 20,000 ภาคี ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เกิดขึ้นต่อระบบสุขภาพไทยมากมาย
“สสส. มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ทุกคนบนแผ่นดินไทย มีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี โดยมีพันธกิจในการจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง บุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถ และสร้างสรรค์ระบบสังคม ที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งจะทำต่อไป” เป็นคำกล่าว ของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.
จากนั้นได้กล่าวถึง แผนสุขภาวะชุมชน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเชื่อว่าความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเป็นทุนทางสังคม และศักยภาพให้กับทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน ทุกตำบล เป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญ คือ การสานพลัง ทั้ง 4 สาน 1. พลังพื้นที่ 3,526 ตำบล 2. พลังผู้นำ 397,771 คน 3. พลังนวัตกรรมทั้งเชิงระบบ กระบวนการ เทคนิค 4. องค์กรเป็นโครงข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิชาการ องค์กรร่วมพัฒนาเอกชน
การสร้างนวัตกรรม ด้วยการขับเคลื่อนเป้าหมายหลัก 7+1 ประเด็น ยาสูบ แอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต มลพิษจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยเสี่ยงอื่น รวมถึง การสร้างสังคมสุขภาวะ นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่สอดประสานกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ
พร้อมชวนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น ร่วมเดินทางสู่ทศวรรษที่สามของ สสส. ที่ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ที่มีทั้งการสร้างรูปแบบชุมชนเข้มแข็งที่รองรับชุมชนที่หลากหลายกว่าเดิม ทั้งความหลากหลายเชิงภูมิศาสตร์ระดับต่าง ๆ จากฐานหลักที่ตำบลในปัจจุบันสู่หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด มหานคร โดยมี “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” และ “กลไกสนับสนุน” ปรับตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ ปัญหาสุขภาวะใหม่
รวมถึงการดึงคนรุ่นใหม่ร่วมเป็นแกนนำ ปรับตามเทคโนโลยี ดิจิตอล และท้ายสุด คือ การพิสูจน์ถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพจากชุมชนที่เข้มแข็งที่วัดได้จากระบบฐานข้อมูลที่วางไว้ ดร.สุปรีดา กล่าวย้ำ
ไฮไลท์ปิดท้ายด้วยปาฐกถาพิเศษ “จิตวิญญาณชุมชนท้องถิ่น สร้างการเปลี่ยนแปลง สู่สังคมแห่งความสุข โดย นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้กล่าวตอกย้ำถึงความสำคัญเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ก่อนปิดงานพร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ในการสานพลังว่า ถึง เป้าหมายในอนาคตว่า…
… “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน ขอร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ สานต่ออุดมการณ์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนให้กับชุมชนท้องถิ่น ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยบูรณาการทำงานทั้งภายในองค์กร และเครือข่ายฯ ด้วยความเชื่อมั่นว่าเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น จะสามารถเป็นฐานของประเทศ ที่มีความเข้มแข็งพอสำหรับการค้ำจุนประเทศชาติให้มั่นคง”
กล่าวเสริมอีกว่า… ฐานของความเข้มแข็ง ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือ ท้องถิ่น ท้องที่ ประชาชน และภาครัฐ ซึ่งต้องก้าวไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของชุมชน มีการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และต้องอยู่ได้กับทุกการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญที่สุด คือ คนจะต้องมีปัญญาและคุณธรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จ และจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
จากนั้นเป็นภาพที่งดงาม เมื่อเครือข่ายในที่ประชุมได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ สนับสนุน และสานกันเป็นพลังของชุมชนท้องถิ่น เข้าสู่วาระการพัฒนาในทุกระดับเพื่อตอบโจทย์ประเทศร่วมกันขับเคลื่อนครอบคลุม 8 ประเด็นในการสานพลังร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน 26 เป้าหมาย
“1 . ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะที่เท่าเทียม 2. ร่วมสร้างเศรษฐกิจชุมชนวิถีใหม่ สนับสนุนการรวมกลุ่ม กลุ่มอาชีพ 3. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ สร้างข้อตกลงของชุมชนท้องถิ่นในการตั้งรับปรับตัว จัดทำแผนรับมือจัดการภัยพิบัติ 4. วิวัฒน์ระบบสุขภาพ กระจายอำนาจสู่ชุมชน 5. ร่วมสร้างคุณภาพสังคมสูงวัย 6. ร่วมสร้างระบบอาหารชุมชน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร 7. ร่วมสร้างสังคมเกื้อกูลเพื่อดูแลกลุ่มจิตเวชและกลุ่มเปราะบาง 8. ร่วมสร้างสุขภาวะเขตเมือง เข้าสู่วาระการพัฒนาในทุกระดับเพื่อตอบโจทย์ประเทศ”
ภายในงานมีการมอบประกาศเกียรติบัตรให้แก่ “ศูนย์เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” จำนวน 93 แห่ง รวม 190 เรื่อง แบ่งออกเป็น 10 ด้านตามทิศทางและเป้าหมาย 10 ปี (พ.ศ.2565-2575) ของ สสส.
ซึ่ง “ศูนย์เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” สสส. ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นกลไกขับเคลื่อนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพเฉพาะประเด็น เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย มีรูปธรรมการดำเนินงาน ที่สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายของ สสส. และเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้แก่พื้นที่อื่นหรือหน่วยงานต่างๆ ได้