สานพลัง สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย

เรื่องโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ

ข้อมูลจาก: งานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16

ภาพโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    คุณเคยคิดไหมว่า ใน 1 ปี ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกี่คน?

                    แม้จะมีกฎหมายควบคุมการจราจรและข้อบังคับที่เข้มงวด แต่ในแต่ละปีประเทศไทยยังคงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 20,000 ถึง 24,000 ราย นั่นหมายถึง 48 ชีวิตต่อวัน ที่ต้องสูญเสียไปจากสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นบนถนน

                    ดังนั้น ทุกการเดินทางจึงควรเป็นการนำพาผู้คนไปสู่จุดหมายที่มีความสุข อย่าให้กลับกลายเป็นจุดจบที่ครอบครัวไม่อาจชดเชยได้

                    เก็บตกในการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 ภายใต้หัวข้อ “สายพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย” หลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ 50% ภายในปี 2570 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” (2021-2030)

                    อ้างอิงข้อมูลปี 2566 ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีจำนวน 17,498 ราย เฉลี่ย 26.8 รายต่อประชากรแสนคน กลุ่มเสี่ยงหลักคือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และกลุ่มใหม่อย่าง ไรเดอร์ส่งของ หรือผู้สูงอายุที่ยังต้องเดินทางด้วยตนเอง

                    อุบัติเหตุทางถนนยังส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจไทย โดยมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สูงถึง 613,346 ล้านบาท

                    นำมาสู่เสียงสะท้อนจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ประธานเปิดการประชุมสัมมนา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญ และสวัสดิภาพของประชาชนไทยจึงร่วมกับรัฐบาลโลก ประกาศทศวรรษที่สองแห่งความปลอดภัยทางถนนปี 2021-2030 มีเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างน้อย 50% ภายในปี 2570

                    เน้นย้ำอีกว่า “ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เราต้องสร้าง ระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) และใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัย โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน”

                    ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ชี้ว่า “แม้จะมีความพยายามลดอุบัติเหตุ แต่ความเสี่ยงยังเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มไรเดอร์ส่งของ หรือ ผู้สูงอายุ ประกอบกับระบบขนส่งสาธารณะที่จำกัด เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่หันไปใช้รถส่วนบุคคลมากขึ้น โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่มีความเสี่ยงสูงและปัญหาที่ใหญ่ขึ้น คือ การบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวดในหลายพื้นที่”

                    พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นว่าในพื้นที่ที่มีการจัดการความปลอดภัยทางถนนที่มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง พบภาพรวมการสวมหมวกนิรภัยของเด็กไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีแนวโน้มการเสียชีวิตลดลง”

                    นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวในวงเสวนาฯ ว่า

                    สสส. ได้มีแผนการดำเนินงานหลัก 1 ใน 15 แผน เป็นเรื่องการจัดการความปลอดภัยทางถนน ที่มีจุดเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในทศวรรษที่ 3  เน้นลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยใช้ยุทธศาสตร์รวมพลังความรู้ พลังสังคม และพลังนโยบาย โดยเน้นไปที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในกลุ่มเยาวชนและวัยทำงาน สนับสนุนการใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีป้องกันอุบัติเหตุ

                    นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ได้สะท้อนปัญหาของเหยื่อจากการเมาแล้วขับให้ฟังว่า “ที่ผ่านมาเหยื่อต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมที่มักจะให้ความสำคัญกับผู้กระทำผิดมากกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ เช่น การดำเนินคดีล่าช้า การบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวดพอ และขาดการสนับสนุนจากระบบสาธารณสุขและรัฐในการดูแลเหยื่อเพื่อให้เกิดกลไกการทำงานที่รอบด้าน

                    จึงต้องเรียกร้องให้มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้สามารถปกป้องสิทธิของเหยื่อได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด จริงจัง เพื่อป้องกันและลดปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในสังคมไทยต่อไป”

                    ด้านผู้บังคับใช้กฎหมาย พล.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผู้บัญชาการ สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงอนาคตการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเมาแล้วขับ และ การกระทำผิดซ้ำ  จะมีจุดเน้นการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดที่ไม่เพียงแต่ลงโทษเท่านั้น และใช้เทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเพื่อช่วยในการจับกุมผู้กระทำผิด รวมถึงการพัฒนาระบบการบังคับใช้กฎหมาย

                    ขณะที่ น.ส.นิตยา กีรติเสริมสิน ผู้ประกาศข่าว Thai PBS ผู้ได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety Award กล่าวว่า “หน้าที่ของสื่อไม่ใช่แค่เล่าข่าว แต่ คือ การฉายภาพใหญ่และผลักดันให้สังคมตระหนักถึงปัญหา เป้าหมายถนนไทยปลอดภัยปี 2570 จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ

                    ทุกฝ่ายร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยทางถนน ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน หากเราไม่สร้างวินัยจราจรตั้งแต่วันนี้ วันหนึ่งอาจเป็นครอบครัวของเรา ที่เดินออกจากบ้านไปแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย… ” เธอกล่าว

                    สสส. ยังมุ่งมั่นในการเป็นอีกหนึ่งพลังที่ร่วมผลักดันประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายนี้ และขอให้ทุกคน “สานพลัง” และ “สร้างกลไกที่เข้มแข็ง” เพื่อให้ชีวิตบนถนนไม่สูญเปล่า “หากเราลดตัวเลขการเสียชีวิตได้ เท่ากับเราเพิ่มความหวังและอนาคตของชาติ”

Shares:
QR Code :
QR Code