สานพลังเครือข่ายงดเหล้า สร้างชุมชนต้นแบบ “คนพานไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่-ฆ่าตัวตาย พัฒนานวัตกรรม ยกระดับวัด-ศาสนา แก้ปัญหาคนติดเหล้า
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เชียงราย ติด 1 ใน 5 จังหวัดดื่มเหล้าหนักสุดในไทย สสส. สานพลัง เครือข่ายงดเหล้า ลงพื้นที่วัดหัวฝาย อ.พาน สร้างชุมชนต้นแบบ “คนพานไม่ทิ้งกัน” พัฒนานวัตกรรม ยกระดับวัด-ศาสนา แก้ปัญหาคนติดเหล้า-บุหรี่-ฆ่าตัวตาย ขยายเครือข่ายเยาวชน นักสื่อสารเรื่องเหล้าเต็มรูปแบบ
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2566 ที่วัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.เชียงราย ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภูมิภาค ข้อมูลผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 พบภาคเหนือมีความชุกของนักดื่มสูงสุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ขณะที่ จ.เชียงราย ติด 1 ใน 5 ของจังหวัดที่พบการดื่มสุราอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ สสส. สานพลัง ภาคีเครือข่าย พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “คนพานไม่ทิ้งกัน” ใช้นวัตกรรมรูปแบบชุมชนทำให้อำเภอเป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขยายเครือข่ายนักรณรงค์ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนเลิกเหล้าตลอดชีวิต (คนหัวใจเพชร), เครือข่ายนายอำเภอนักรณรงค์, เครือข่ายแกนนำชุมชนต่างๆ, เครือข่ายผู้นำท้องถิ่น และเครือข่ายพระสงฆ์และผู้นำศาสนา มาเป็นผู้นำการสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายให้ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ
“การสานพลังของคนในพื้นที่วัดหัวฝาย สะท้อนให้เห็นความสามัคคี ที่หลายฝ่ายช่วยกันทำให้ชุมชนห่างไกลปัจจัยเสี่ยง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้คนทุกช่วงวัยมีกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดี ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ สสส. ต้องการสร้างสังคมให้มีสุขภาวะในการดำรงชีวิต อยากให้ที่นี่เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ สร้างนักสื่อสารเรื่องเหล้า สู่สังคมที่มีสุขภาวะ” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย ในฐานะที่ปรึกษาชมรมคนหัวใจเพชร วัดหัวฝาย กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยร่วมทำให้เกิดปัญหาในชุมชน เช่น อุบัติเหตุ ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท คดีอาชญากรรม การสร้างโรงเรียนผู้สูงอายุในวัดหัวฝาย มีเป้าหมายยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ให้มีสุขภาวะ ใช้มิติทางวัฒนธรรมและศาสนา โดยให้วัดเป็นศูนย์กลางกิจกรรม ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ปัจจุบันมีสมาชิกร่วมโครงการและเลิกเหล้าได้ 160 คน เช่น นายเป็ง ฟองคำ อายุ 75 ปี ที่เคยเป็นนักดื่มตั้งแต่วัยรุ่น จนกลายเป็นผู้ป่วยที่มีสถานะเป็นคนพิการทางการเห็น พบปัญหาสุขภาพจิต คิดฆ่าตัวตาย วัดจึงดึงเข้ามาร่วมโครงการฯ ให้ที่พัก ห้องน้ำ และอาหาร ปัจจุบันมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่
“ผู้ใหญ่บ้านจะประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมลด ละ เลิกเหล้า ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง จากนั้น อสม. จะสำรวจคนดื่มและคนไม่ดื่ม พบว่าคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เลิกเหล้าเพราะสุขภาพไม่ดี ลูกหลานขอร้อง และตั้งแต่ปี 2563 ได้รณรงค์ ชวน ช่วย ชม เชียร์ มอบเกียรติบัตรคนบวชใจ และเข็มเชิดชูเกียรติคนหัวใจเพชรที่สามารถเลิกเหล้าต่อเนื่องได้ 3 ปี ปัจจุบันชมรมคนหัวใจเพชรมีความเข้มแข็งอย่างมากมายจากพลังคนในพื้นที่ และทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อน” พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ กล่าว
นายฤทธิรงค์ หน่อแหวน ผู้ประสานงานศูนย์พัฒนาศักยภาพคนทำงานปลอดบุหรี่ จ.เชียงราย กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 – 2563 พบว่า จ.เชียงราย มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ติดอันดับ 1 ของประเทศ ขณะที่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน พบอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงอยู่ที่อันดับ 3 ของประเทศ ปัจจุบันประชาคมงดเหล้า จ.เชียงราย ทำงานร่วมกับเครือข่ายเยาวชน Youth Stopdrink Network (YSDN) ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทดลองทำงานใน 6 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอ ได้แก่ แม่จัน เวียงชัย พาน แม่สรวย เทิง และเชียงแสน โดยจะมีพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริมให้เกิดการสร้างพลเมืองนักสื่อสารเรื่องเหล้า ช่วยจัดระบบการประสานงาน ให้คำปรึกษา วางแผนการทำงาน ประสาน ติดตามงาน สร้างระบบพี่เลี้ยงระดับอำเภอ ที่จะช่วยร่วมวางแผนทำงานระดับพื้นที่กับหน่วยงานต่างๆ และ พชอ. และวางระบบการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาศักยภาพ
“ที่ผ่านมาประชาคมงดเหล้าเชียงรายและผู้แทนเยาวชน YSDN แต่ละพื้นที่จัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ได้แก่ แบบสำรวจข้อมูลต่างๆ ใช้รูปแบบเดียวกัน มีแบบบันทึกลงนามงดเหล้าเข้าพรรษา ใช้ระบบคิวอาร์โค้ด และจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบในกลุ่มเยาวชนอายุ 12-15 ปี เพื่อนำข้อมูลไปใช้คืนข้อมูลระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน เป็นแนวทางสร้างสังคมให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงต่อไป” นายฤทธิรงค์ กล่าว
นายณรงค์เดช ใจวงศ์ สมาชิกคนหัวใจเพชร อายุ 52 ปี กล่าวว่า เริ่มดื่มเหล้า สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 12 ปี ดื่มหนักที่สุดคือวันละ 2 ขวด สูบบุหรี่วันละ 3 ซอง ปี 2554 ลูกชายขอร้องให้เลิกดื่มเหล้า จึงดื่มทิ้งท้ายก่อนทำตามคำขอของลูก ในวันเดียวกันขี่มอเตอร์ไซค์ชนต้นไม้ รักษาตัวที่ รพ. นอนไม่รู้สึกตัวนาน 40 วัน เมื่ออาการดีขึ้น จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่ อ.พาน จ.เชียงราย ตั้งใจเลิกดื่มในปี 2555 ต่อมาเข้าร่วมเป็น อสม. และเลิกบุหรี่ได้ในปี 2564 จากโครงการ HERO NO SMOKE ได้รับการบำบัดจาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่องคต และคลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลพานเลิก สำเร็จในปี 2565 พบว่ามีสุขภาพดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข ทำให้ในปี 2565 ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลต้นแบบคนหัวใจเพชร ทำหน้าที่ชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษาตามนวัตกรรม ONE by ONE ของโรงพยาบาลพาน