สานพลังภาคี หนุนงานวิจัย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพสู่นานาชาติ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. เผยกลยุทธ์สร้างเสริมสุขภาพสู่สายตานานาชาติ มุ่งสานพลังภาคีเครือข่าย หนุนงานวิจัยวิชาการผลักดันนโยบายเป็นรูปธรรม ชูผลงานลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง คาดคนไทยมีกิจกรรมทางกายพุ่งสูงร้อยละ 80 ในปี 64
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมการประชุมคู่ขนานหัวข้อ “ระบบการเรียนรู้อย่างชาญฉลาด และขีดความสามารถขององค์กรต่างๆ ในการตอบสนองต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Intelligence Systems and Institutional Capacities in Response to NCDs)” ภายในการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 (PMAC 2019) โดยมีตัวแทนองค์กรนานาชาติที่ทำงานป้องกันและแก้ไขโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เข้าร่วมรับฟังการอภิปรายกว่า 30 คน
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรไทยเสียชีวิตร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี โดยในทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 37 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักคือ เหล้า บุหรี่ อาหารรสจัดหวานมันเค็ม และขาดการมีกิจกรรมทางกาย และเพื่อเป็นการหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้เสียชีวิต สสส. จึงทำงานสนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และทำงานร่วมกับองค์กรต่างประเทศ ในการรณรงค์สื่อสารประชาชนให้มีความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และยังเชื่อว่าการทำงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) ที่มีความแม่นยำน่าเชื่อถือ เพื่อใช้ในการนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายประเทศ ส่วนหนึ่งจึงสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อวิเคราะห์ผลของปัจจัยเสี่ยงหลัก อาทิ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เป็นต้น
“แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายของ สสส. ได้สนับสนุนให้เกิดศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อรวบรวมงานวิจัย งานวิชาการ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย เพื่อประโยชน์ในการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง อันเป็นสาเหตุทำให้คนไทยมีภาวะอ้วนถึง 19 ล้านคน ภาวะความดันโลหิตสูงถึง 13 ล้านคน และเป็นเบาหวานถึง 4 ล้านคน โดยในปี 2559 นับเป็นก้าวสำคัญที่ สสส. ได้รับเกียรติจากสมาคมนานาชาติเพื่อการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (ISPAH) ให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและทวีปเอเชีย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวถึงผลการประชุมครั้งนั้นว่า ทำให้เกิดการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นที่มาของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ล่าสุดผลสำรวจโดยโครงการพัฒนาระบบเฝ้ารังและติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย พบว่า แนวโน้มคนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2564 คนไทยจะมีกิจกรรมทางกายสูงถึงร้อยละ 80