สานพลังภาคี สร้างต้นแบบท้องถิ่นสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชนด้วยกลไกชุมชน 5 ภูมิภาค ถอดความสำเร็จ ขยายผลขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชนเชิงรุกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
กรมสุขภาพจิต-สสส.-มสช. สานพลัง สร้างต้นแบบท้องถิ่นสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชนด้วยกลไกชุมชน 5 ภูมิภาค จัดเวทีถอดความสำเร็จ ขยายผลขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชนเชิงรุกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่าย จัด “เวทีสานพลังส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น ครั้งที่ 1” เพื่อถ่ายทอดบทเรียนความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่น 5 ภูมิภาค 10 พื้นที่ต้นแบบเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตเชิงรุก
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2580) มียุทธศาสตร์สำคัญคือ ส่งเสริมคนทั่วไปให้เด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ เสริมสร้างให้คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต มีทัศนคติที่ดีต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช จากการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่ากลุ่มคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป ช่วงวัยเยาวชน (15-24 ปี) มีคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าวัยอื่น ขณะที่คะแนนสุขภาพจิต 5 ด้าน พบว่าด้านปัจจัยสนับสนุนสูง 82.0 % ด้านสภาพจิตใจที่มีความรู้สึกไม่ดี มีคะแนนมากที่สุด คิดเป็น 88.6% ด้านที่อ่อนแอที่สุด คือ ด้านสมรรถภาพของจิตใจ 64.3% ซึ่งองค์ประกอบนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ควรมุ่งพัฒนาสมรรถภาพของจิตใจเป็นหลัก
“โครงการนี้ มุ่งควบคุม หรือลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ให้ความสำคัญการแลกเปลี่ยนการทำงานเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอสาธารณะ ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทดูแลคนในพื้นที่และกลุ่มคนเปราะบาง การทำงานแบ่งเป็น 2 กลไกหลัก 1.การมี มสช. เชื่อมโยงและสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ หน่วยงานด้านสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น และอื่นๆ 2.สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตคนในพื้นที่ทุกช่วงวัยแบบเชิงรุก ซึ่งความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่นทั้ง 5 ภูมิภาค 10 พื้นที่ ที่ได้ดำเนินโครงการและสร้างต้นแบบในด้านกลุ่ม อปท. กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มกลไกทางศาสนา และกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพ จะถูกถ่ายทอดเป็นโมเดลขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อให้การสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” นพ.ศิริศักดิ์ กล่าว
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. และ มสช. สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น ผ่านโมเดลความสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดีทุกช่วงวัย เน้นความสามารถเข้าใจจิตใจตนเองและจิตใจบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ซึ่งต้องอาศัยการสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล โรงพยาบาล รพสต. ตำรวจ และอีกหลายฝ่าย มีกลไก มาตรการส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน เกิดข้อเสนอนโยบายความร่วมมือภายในชุมชนท้องถิ่นที่สามารถดูแลกันเองได้ พร้อมอบรมแกนนำให้ได้รับพัฒนาศักยภาพ เข้าใจผู้มีปัญหาสุขภาพจิต สามารถทำให้เพื่อนในชุมชนมีความหวัง มีพลังใจ จัดการปัญหาสุขภาพจิต ตลอดจนนำไปปรับใช้ดูแลตัวเองได้ด้วย
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการฯ ใน 10 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.เกิดนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น (นสช) จำนวน 100 คน 2.เกิดแกนนำส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน จำนวน 400 คน 3.การขยายผลสู่แผนพัฒนาท้องถิ่นและโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในท้องถิ่น จำนวน 4 พื้นที่ เช่น อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้บรรจุโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในแผนพัฒนาตำบล นอกจากนี้ ยังมีโมเดลส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น 10 โมเดล ขณะเดียวกัน ผลความสำเร็จของโครงการคือ เวทีสานพลังการส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียนการทำงาน และร่วมพัฒนาข้อเสนอแนะในการยกระดับและขยายผลการดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่น ในการส่งเสริมสุขภาพจิตคนไทยต่อไป