สานพลังภาคีฯ สร้างวิถีไรเดอร์-วินรับจ้างขับขี่ปลอดภัย ขยายองค์ความรู้ พัฒนาทักษะผู้ขับขี่ ลดอุบัติเหตุทางถนน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส.-ศวปถ.-SCG. สานพลังภาคีเครือข่าย สร้างวิถีไรเดอร์-วินรับจ้างขับขี่ปลอดภัย หลังพบอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากธุรกิจส่งอาหาร สร้างแกนนำ ขยายองค์ความรู้-ยกระดับการทำงานพัฒนาทักษะผู้ขับขี่-สร้างกลไกการเฝ้าระวังป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ที่ รร.อมารี ดอนเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) ร่วมกับ รร.ทักษะพิพัฒน์ โดย บริษัท เอสซีจี สกิลส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Robinhood) ผู้แทนกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์ และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงข่าวปิดโครงการ “ความร่วมมือเพื่อสร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์” เพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัย ในอนาคต และร่วมพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย สร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รักษาผู้อำนวยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า การบาดเจ็บ และเสียชีวิตในกลุ่มรถจักรยานยนต์ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของไทย โดยเฉพาะไรเดอร์ส่งอาหาร และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ต้องใช้จักรยานยนต์ในการประกอบอาชีพ ทำงานแข่งกับเวลา และความเสี่ยงจากภัยบนท้องถนน จากข้อมูลการสำรวจปี 2565 พบว่า เกิดอุบัติเหตุในกลุ่มไรเดอร์ 81 ครั้ง เสียชีวิต 28 คน และบาดเจ็บ 36 คน โดยมีสาเหตุเกิดจาก ขับเร็ว ย้อนศร ขับบนทางเท้า ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ ทำงานแข่งกับความเร็ว เส้นทางที่ไม่คุ้นชิน บรรทุกเกินขนาด ขณะที่จักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพฯ มี 5,556 วิน และมีสมาชิก 84,547 คน ความเสี่ยงที่พบคือ ทำรอบการรับผู้โดยสาร ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ขาดทักษะคาดการณ์ความเสี่ยง จึงจำเป็นต้องได้รับการอบรมพัฒนาทักษะขับขี่เชิงป้องกัน เพื่อให้เข้าใจแนวทางวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย
“การทำงานที่ผ่านมาได้มีการอบรมขับขี่เชิงป้องกันให้กับตัวแทนทั้ง 2 กลุ่ม สร้างสรรค์คลิปวิดีโอสื่อสาร และจัดประกวดทำคลิปสื่อสารสะท้อนความเสี่ยง จัดทำคู่มือสำหรับจักรยานยนต์รับจ้าง ประสานการทำงานร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย สภาพแวดล้อม ในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. กระทรวงแรงงาน ในการจัดทำแนวปฏิบัติการจัดการความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร และจากความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการจัดการความปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ขึ้น ภายใต้ ศปถ.กทม. ได้สำเร็จ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง และกลุ่มไรเดอร์ในเชิงระบบและกลไกอย่างเป็นรูปธรรม” นางก่องกาญจน์ กล่าว
นายสมบัติ พุทธสัมฤทธิ์ ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจบริษัท เอสซีจี สกิลส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า เอสซีจีฯ เห็นความสำคัญของการขับขี่ที่ปลอดภัย จึงร่วมกับ สสส. ศวปถ. ในการจัดอบรมพัฒนาทักษะขับขี่เชิงป้องกันให้กับตัวแทนกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์ ที่มีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ ความเสี่ยงจากสภาพเส้นทาง และผู้ใช้ถนนอื่นๆ เพื่อสร้างทัศนคติ และแนวคิดการขับรถอย่างปลอดภัย ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายจราจร การเตรียมพร้อมของร่างกายจิตใจ และการบริหารความเหนื่อยล้า การขับรถปลอดภัยเชิงป้องกันอุบัติเหตุ การขับรถในสถานการณ์ปกติ และการประเมิน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์ไม่ปกติและฉุกเฉิน การตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถ นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมประกวดคลิปสื่อสารความเสี่ยง และจัดทำ 12 คลิปการเรียนรู้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ในวงกว้าง เพื่อสร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง และกลุ่มไรเดอร์ และขยายไปกลุ่มอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า โครงการนี้ผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและผู้ประกอบการ/ธุรกิจรับส่งอาหาร ถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง และกลุ่มไรเดอร์ เกิดแกนนำรถจักรยานยนต์รับจ้าง และไรเดอร์ ขับขี่ปลอดภัย 100 คน ขยายองค์ความรู้ไปในพื้นที่ต่าง ๆ สร้างแนวปฏิบัติสำหรับการขับขี่รถจักรยานยนต์ให้ปลอดภัย ได้ผลิตคลิปการเรียนรู้ พัฒนาเชื่อมกับแพลตฟอร์มสั่งอาหาร Robinhood สร้างมาตรการไรเดอร์ไม่วิ่งบนทางเท้า ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะการขับขี่เชิงป้องกัน จัดการระบบข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ แบบแผนการเกิดอุบัติเหตุ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ ศปถ.กทม.ขับเคลื่อนงาน ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการฯ เกาะติด และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์ต่อไป