สานพลังตำบลขับขี่ปลอดภัย สกัดจุดเสี่ยง 7 แสน กม.
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ระยะทางของถนนสังกัดหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมกันแล้วมีความยาวถึง 700,000 กม. ถือว่ายาวที่สุดเมื่อเทียบกับถนนที่อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง (ทล.) มีระยะทาง 53,000 กม. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระยะทาง 48,000 กม. ที่น่ากังวลถนนในความดูแลของ อปท. มีจุดเสี่ยงมากกว่า ต้องตัดผ่านชุมชนจำนวนมาก โอกาสมีอุบัติเหตุทางถนนจึงสูงกว่า
แนวทางหนึ่งของการลดการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัด จึงต้องโฟกัสไปที่ท้องถิ่น ล่าสุด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ.) 9 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี เชียงราย ยโสธร ระยอง สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี รวม 109 อำเภอ 828 ตำบล 8,167 หมู่บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนนจากจังหวัดสู่อำเภอและตำบล พ.ศ.2563-2565 ตามนโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และประธานคณะกรรมการ ศปถ.ในฐานะประธานลงนามบันทึกความเข้าใจ กล่าวว่า แนวทางการป้องกันโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุบนถนนลดลง จึงเป็นแนวทางสำคัญนำมาปรับใช้กับการลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้ความเข้มแข็งในระดับชุมชน ร่วมกับจุดแข็งด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ลดการเจ็บตายจากการขับขี่ เน้นการสวมหมวกนิรภัย 100% ให้คำนึงว่าต้องสวมหมวกนิรภัยเหมือนสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน 2.พัฒนาศูนย์เด็กเล็กทุกแห่ง เพื่อบ่มเพาะวินัยความปลอดภัยบนถนน ตั้งแต่เด็กเล็กโดยความห่วงใย และความร่วมมือร่วมใจของครู ผู้ปกครอง และผู้บริหาร อปท. เพื่อส่งต่อให้สถานศึกษาขั้นต่อไป 3.แก้ปัญหาถนนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะถนนของท้องถิ่นที่มีพื้นผิวถนนยาวถึง 700,000 กม. มากกว่าทางหลวงและทางหลวงชนบทถึง 5 เท่า
รวมทั้งให้เห็นความสำคัญแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง ทั้งมีจุดตัดรถไฟที่เป็นจุดลักผ่านอีกมากมาย และ 4.การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยลดพฤติกรรมเสี่ยงด้วยพลังของคนในท้องถิ่นท้องที่ ทั้งการตั้งด่าน การเอาจริงกับกติกาชุมชน
"หากความร่วมมือต่าง ๆ เกิดขึ้น จะทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตลดได้ปีละ 5-10% ในระยะเวลา 10 ปี จะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่มีปฏิญญาไว้ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไม่เกิน 12 คน จากประชากร 100,000 คน ซึ่งปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 31 คน จากประชากร 100,000 คน" รมช.มหาดไทย กล่าว
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร. กล่าวว่า ในด้านการดำเนินงานของ สอจร. จากนี้ต้องเริ่มจากสร้างแกนนำในทุกจังหวัด ขยายผลไปสู่แกนนำอำเภอ และแกนนำตำบล ที่เข้ามาทำงานนี้ ผ่านกิจกรรมที่สำคัญ คือ มาตรการองค์กร การแก้จุดเสี่ยง การตั้งด่าน ต่าง ๆ และศูนย์เด็กเล็ก ผ่านยุทธวิธีทางการขับเคลื่อน 5 ส 5 ช "ชง ชวน เชื่อม ช้อน เช็ก" เพื่อสร้างเครือข่ายนำคนมาทำงานร่วมกัน และที่สำคัญคือต้องมีระบบการกำกับติดตามในทุกพื้นที่
"เชื่อว่าแนวคิดนี้ต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินการ และกลุ่มแกนในการขับเคลื่อน ต้องมุ่งเป้าไปที่เรื่องใหญ่ก่อน เช่น การสวมหมวกนิรภัย การขับขี่รถจักรยานยนต์ และเรื่องเด็กเล็ก น่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ อย่างยั่งยืน"
ข้อมูลวิชาการต่างประเทศ ระบุว่า การลงทุนในเด็กปลูกฝังจิตสำนึก สามารถจัดการความปลอดภัยบนถนนได้ดี 7-12 เท่า ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน จนปัจจุบันเกิดศูนย์เด็กเล็กสังกัด อปท. ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน 17 แห่ง อาทิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลสันกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเป้า ต.เหล่าเสือโก้ก อ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลขุนทะเล (บ้านนิคม) ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด อปท. เป็นแหล่งบ่มเพาะเรื่องวินัยจราจร การใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องการสวมหมวกนิรภัยเด็กเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ปกครองสวมหมวกนิรภัยเมื่อต้องใช้รถจักรยานยนต์มาส่งที่โรงเรียน และยังสามารถสื่อสารไปยังชุมชนรวมตัวกันลดจุดเสี่ยง เช่น การขีดสีตีเส้น สกัดเมาไม่ขับ เป็นต้น
นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้สถานการณ์การลดเจ็บลดตายบนถนนของประเทศไทยจากระบบข้อมูลสามฐาน จะลดจาก 21,745 ราย ตั้งแต่ปี 2559 เหลือ 19,904 ราย ในปี 2562 และมีแนวโน้มการลดการเสียชีวิตจากผลของมาตรการต้านโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 16,000 ราย แต่หากมองในระยะยาวตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ความสูญเสียจากการใช้รถใช้ถนน กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว และคุกคามโครงสร้างประชากร คนวัยเรียนวัยทำงานหายไปปีละเป็น 10,000 ราย และพิการถาวรมากกว่า 5,000 รายต่อปี ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะลดตัวเลขผู้ประสบอุบัติเหตุ และไม่ให้ไปแย่งเตียงกับผู้ป่วยปกติ
ด้าน นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน นอกจากการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบตามกฎหมาย ความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในระดับท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญด้วย ก่อนหน้านี้ที่ได้นำร่องใน 10 จังหวัด พบว่า มีกลไกมีแนวทางแก้ปัญหาที่ดี ที่สามารถนำมาขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ จึงได้ประสานขอความร่วมมือกับ 9 จังหวัด ซึ่งถือเป็นเฟส 2 ทั้ง 9 จังหวัด มีความพร้อมในการดำเนินการ เพราะการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุไม่สามารถรอได้ ต้องดำเนินการโดยทันทีไม่ต้องรอรณรงค์ช่วงเทศกาล
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ดังนั้นการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ที่จะมีการพัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัด สู่ระดับอำเภอ และระดับตำบล ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ต้องไปถอดบทเรียน ทั้งนี้สถานการณ์ตอนนี้ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าคดีอาชญากรรม หรือคดีประทุษร้าย
พลังท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญของการลดเจ็บลดตายบนท้องถนน ที่สำคัญจะมีส่วนช่วยลบสถิติประเทศไทยซึ่งมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนติดอันดับโลก.