“สานพลังชุมชน ขับเคลื่อนสุรินทร์เมืองเกษตรอินทรีย์”
ที่มา : เว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์
จ.สุรินทร์ จัดเวทีจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนระบบเกษตรอินทรีย์โดยชุมชนท้องถิ่น ภายใต้โครงการ "สานพลังชุมชน ขับเคลื่อนสุรินทร์เมืองเกษตรอินทรีย์"
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงานและบรรยายพิเศษ การจัดเวทีจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนระบบเกษตรอินทรีย์โดยชุมชนท้องถิ่น ภายใต้โครงการ "สานพลังชุมชน ขับเคลื่อนสุรินทร์เมืองเกษตรอินทรีย์" โดยมีนายชยพล ถิลา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ กล่าวรายงาน มีนายเกษมศักดิ์ แสนโภชณ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นเกียรติ และมีกลุ่มเกษตรกรตัวแทน 17 อบต. เข้าร่วมงาน ซึ่งการจัดงานจัด 2 วัน ระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม 2563
ทั้งนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพและการเรียนรู้ของชุมชน ในการขับเคลื่อนให้จังหวัดสุรินทร์เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ วิถีสุรินทร์ 4.0 ส่งเสริมให้ประชาชนทำเกษตรอินทรีย์ และการเข้าถึงอาหารปลอดภัยของคนในชุมชน ผ่านการสร้างกลไกการขับเคลื่อนระดับตำบล ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ สภาเกษตรกร เกษตรกรต้นแบบ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ 5 ฐานเรียนรู้ คือ ฐานที่ 1 บทบาทและความสำคัญของสภาเกษตรกร ฐานที่ 2 การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ ฐานที่ 3 การพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ฐานที่ 4 การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร (อาหารในโรงเรียน อาหารผู้สูงอายุ ตลาดเขียว) ฐานที่ 5 การจัดการกองทุนเพื่อสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ให้เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ไปสู่เป้าหมายในระยะเวลา 1 ปี และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU ในการทำงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดสุรินทร์ และ 17 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์โดยชุมท้องถิ่น
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดสุรินทร์เริ่มต้นมานาน พื้นฐานค่อนข้างแน่น จึงมองการขยายพื้นที่และการรวมกลุ่มนำผลผลิตรวมกันจำหน่าย การทำแบรนด์การตลาดให้ โดยจังหวัดจะเข้ามาช่วยเรื่องการหาตลาด สร้างจุดจำหน่าย โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อนาคตถ้าทำได้ นอกจากข้าวแล้ว ผักจะเป็นจุดแข็งเพิ่มขึ้นมา ทำให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคได้อย่างสมัครใจ เป็นผลดีต่อสุขภาพ จะทำให้สุรินทร์ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
ด้านว่าที่ร้อยตรี สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ มองว่าจังหวัดสุรินทร์โชคดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีภูมิรู้ ประสบการณ์ และให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ ในฐานะสภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่ด้านนโยบายและแผนงาน จะสนับสนุนและเป็นตัวเชื่อมประสานกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอยู่แล้ว กับ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในเรื่องงบประมาณส่วนหนึ่ง และ สสส. เรื่องแหล่งทุนและการเก็บข้อมูลเกษตรกรในชุมชน
ส่วนนางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการสนับสนุนว่า สสส. มีบทบาทในการสนับสนุนให้คนไทยมีพฤติกรรมที่สร้างสุขภาพอยู่แล้ว ที่จังหวัดสุรินทร์จะเน้นเป้าหมายให้คนกินผักมากขึ้น และปลอดภัย ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์เน้นเรื่องผักเป็นหลักตามนโยบายของผู้ว่าฯ วิธีการจึงขึ้นอยู่กับพื้นที่และสภาเกษตรกรจะร่วมกันออกแบบให้เหมาะสม