สานพลังกลุ่มโรค NCDs อายุยืน ลดสูญเสีย-ลดป่วย-พิการ ก่อนวัยอันควร

เรื่องโดย  จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานประชุมนำเสนอผลการศึกษา “ภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย: ชี้เป้าปัญหา จับตาแนวโน้ม ระบุมาตรการสำคัญลดคนไทยป่วย พิการ และเสียชีวิต”

ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    แม้โรค NCDs จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี

                    สาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ทำให้คนที่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs ได้มากกว่าคนอื่นๆ

                    ด้วยเหตุนี้ สสส. ร่วมกับ แผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรค (Burden of Disease: BOD) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมนำเสนอผลการศึกษา “ภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย: ชี้เป้าปัญหา จับตาแนวโน้ม ระบุมาตรการสำคัญลดคนไทยป่วย พิการ และเสียชีวิต”

                    นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมองว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรค NCDs น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนส่วนใหญ่ และการดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้อายุเฉลี่ยของคนไทยและอายุเฉลี่ยของการมีสุขภาพที่ดีไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แม้ว่าแนวโน้มโรค NCDs จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน แต่เมื่อดูข้อมูลในปัจจุบัน จะเห็นว่า คนไทยสามารถทำให้สุขภาพดีขึ้นได้มากกว่านี้ ซึ่งระบบสาธารณสุขนั้นจะมองแต่เพียงเรื่องระบบการรักษาไม่ได้ ปัจจัยสำคัญก็คือการเข้าไปควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้นั่นเอง รวมถึงควบคุมพฤติกรรมด้านสุขภาพซึ่งมีส่วนสำคัญ โดย 70-80% มาจากการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

                    “ทางระบบสาธารณสุขได้เพิ่มการขับเคลื่อนเชิงนโยบายลงสู่มาตรการที่สำคัญจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ที่จะทำให้ลดภาระจากการเกิดโรค NCDs ในคนไทยได้สำเร็จ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานด้านสุขภาพได้ใช้ข้อมูลนี้อย่างเป็นประโยชน์ และเป็นนโยบายที่ทุกภาคส่วนอยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่อย่างมีความสุขมากขึ้น และขอให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคเครือข่ายจะเปลี่ยนแปลงระบบ เปลี่ยนแปลงสุขภาพไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

                    การป้องกันโรค NCDs ทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากตัวเรา นั่นก็คือการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานผักและผลไม้
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน รวมถึงอาหารปิ้งย่าง
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง
  4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. งดสูบบุหรี่
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ
  7. ผ่อนคลายความเครียด
  8. ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  9. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  10. หากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์

                    ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะภาระโรคเป็นตัวช่วยทำให้ สสส. และภาคีเครือข่ายมองเห็นปัญหาชัดขึ้นว่า ปัญหาสุขภาพของคนไทยนั้น เจ็บ ป่วย ตาย จากสาเหตุใด Burden of Disease หรือ BOD จะเป็นข้อมูลนำมาสู่การวางแผนว่าปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เกิดจากอะไร ต้องแก้ปัญหาที่ไหน ความรุนแรงจะนำไปสู่ตัวเลือกมาตรการที่เหมาะสมว่าตัวไหนเป็นปัจจัยร่วมที่นำไปสู่หลายสาเหตุของสุขภาพคนไทย สาเหตุนี้คือจุดที่ สสส. มุ่งเน้นเป็นพิเศษ

                    ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บ มีอยู่ 2 สาเหตุหลัก คือ 1) เรื่องโรคไม่ติดเชื้อหรือโรค NCDs โดยกลุ่มโรคนี้ส่วนใหญ่เริ่มมาจากโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เป็นต้น จะเห็นได้ว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้เยอะมาก 2) อุบัติเหตุจากถนน เช่น เมาแล้วขับ ขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร ทำให้มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากขึ้น โดย 2 สาเหตุนี้จะเป็นสิ่งที่ สสส. มุ่งเน้นเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ความยากของปัญหาคือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนนั่นเอง ถ้าหากเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายให้เพียงพอ ทั้งนี้รวมถึงลดการสูบบุรี่ ลดดื่มแอลกอฮอล์ก็จะช่วยลดภาระโรคเหล่านี้ไปได้

                    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ได้แก่

อันดับ 1 บุหรี่ เกิดจากการสูบบุหรี่/ยาสูบ และการได้ควันบุหรี่มือสอง

อันดับ 2 ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

อันดับ 3 ระดับความดันโลหิตสูง เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

อันดับ 4 การดื่มแอลกอฮอล์ เชื่อมโยงกับอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแอลกอฮอล์ ที่จัดเป็นการสูญเสียอันดับ 1 ในเพศชาย

อันดับ 5 การบริโภคอาหารที่ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม

                    หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ เราก็จะมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะโรค NCDs ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหยุดพฤติกรรมเสี่ยงและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ให้ห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs

                    สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สนับสนุนให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง อย่างการเลือกรับประทานอาหาร เพิ่มผัก ผลไม้ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยง อย่างเหล้า บุหรี่ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ นำไปสู่วิถีชีวิตแห่งสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code