สั่งหมูกระทะเดลิเวอรีเสี่ยงได้วัตถุดิบไม่สด อาจทำท้องร่วง
ที่มา: กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่นิยมสั่งอาหารประเภทหมูกระทะแบบเดลิเวอรีหรือ สั่งทางออนไลน์ หากมีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ วัตถุดิบไม่สะอาด ไม่มีคุณภาพ บริโภคเข้าไปเสี่ยง ติดเชื้อระบบทางเดินอาหารได้
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีหรือสั่งอาหารออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากความสะดวกรวดเร็ว ทันเวลา โดยเฉพาะอาหารประเภทหมูกระทะที่ การจัดส่งวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นของสด ทั้งเนื้อหมู ผัก และน้ำจิ้มปรุงรส ทำให้บางพื้นที่พบว่ามีกลุ่มแรงงาน ต่างด้าว ทำการลักลอบขายหมูกระทะที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยทำป้ายโฆษณาเลียนแบบยี่ห้อหมูกระทะร้านต่าง ๆ ถือว่ามีความผิดประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนโทรสั่งจำนวนมากเพราะเข้าใจผิดว่า เป็นร้านหมูกระทะทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าหมูกระทะเหล่านี้มีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ วัตถุดิบ อุปกรณ์ และภาชนะบรรจุอาหารไม่สะอาดและไม่มีคุณภาพ ผู้ปรุงประกอบอาหารไม่มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี ทำให้เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีต่าง ๆ ส่งผลให้เมื่อบริโภคมีโอกาสเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารตามมาได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในบางจังหวัดนอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงความสะอาด ที่คู่กันกับหมูกระทะคือน้ำจิ้ม ซึ่งมักทำน้ำจิ้มไว้ในปริมาณมากและทิ้งไว้นาน หรือหากปรุงโดยไม่ถูกสุขอนามัยและเก็บรักษา ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เสี่ยงท้องร่วงได้เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคจึงควรสังเกตจากสี กลิ่น และรสชาติ หากพบความผิดปกติไม่ควรกินและแจ้งเจ้าของร้านทันที
“ในกรณีที่พบการผลิตอาหารประเภทนี้หรืออาหารประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ องค์การปกครอง ส่วนท้องถิ่นสามารถนำกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับสถานที่จำหน่ายอาหารมาบังคับใช้หรือกำหนดมาตรการ ในการควบคุมดูแลการประกอบกิจการ สถานที่จำหน่ายหรือสะสมอาหาร หรือโดยการออกข้อกำหนดของท้องถิ่น (ข้อบังคับระดับตำบล) เกี่ยวกับสุขลักษณะของการประกอบกิจการจำหน่ายหรือสะสมอาหารที่ผู้ประกอบกิจการต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 อาทิ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง ใช้ และการดูแลรักษาความสะอาด และสุขลักษณะสถานที่ที่ใช้จำหน่าย จัดไว้สำหรับบริโภคอาหาร หรือใช้เป็นที่ทำประกอบ ปรุง หรือสะสมอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ กรมอนามัยผลักดันและสนับสนุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อบัญญัติว่าด้วยสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 โดยสามารถขอรับการสนับสนุนด้านวิชาการได้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัยเขต หรือสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว