สัมมนาบอยคอทบริษัทบุหรี่ 27-28 ก.พ. 52 สวนสามพราน นครปฐม
น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการ เครือข่ายนักรณรงค์เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งเอเชียอาคเนย์ (seatca) เปิดเผยการประชุมสัมมนา “การป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่” ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2552 ณ สวนสามพราน นครปฐม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 10 ประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น มองโกเลีย และพาเลา รวม 80 คน รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ นายอเล็ก พาดิลา และวุฒิสมาชิกนายคาเลป ออตโต จากประเทศพาเลา ดร.แมรี่ อซันตา จากออสเตรเลีย นพ.หทัย ชิตานนท์ และ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เพื่อร่วมกันระดมสมองถึงการดำเนินการตามมาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบองค์การอามัยโลก ซึ่งผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมใหญ่ภาคีสมาชิกประเทศ ณ เมือง เดอร์บัน ประเทศอัฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 17 – 22 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว ซึ่งมาตรา 5.3 จัดได้ว่าเป็นมาตราที่สำคัญที่สุดของอนุสัญญา เนื่องจากการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการที่ประเทศต่าง ๆ จะบรรลุเป้าหมายการลดการสูบบุหรี่ภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ ซึ่งที่มาของการกำหนดให้มี มาตรา 5.3 สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้มีการศึกษาพบว่า บริษัทบุหรี่ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการบ่อนทำลาย ขัดขวางการควบคุมยาสูบ ทั้งกระทำอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น ซึ่งกลยุทธที่ใช้ประกอบด้วย
– ให้ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือสินบนแก่ข้าราชการ
– วิ่งเต้นกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง โดยทางอ้อมผ่านตัวแทนหรือองค์กรบังหน้าและสื่อ
– หาทางเข้ามีส่วนร่วมในองค์กรที่มีส่วนกำหนดนโยบายเพื่อขัดขวางมาตรการควบคุมยาสูบ
– สร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการ เพื่อเข้าถึงข้าราชการผู้กำหนดนโยบายและสร้างความชอบธรรมในการที่จะมีส่วนร่วม
– เสนอข้อตกลงกับหน่วยงานราชการเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ให้มีการออกกฎหมาย
– สร้างความสับสนกับงานวิจัย เพื่อบ่อนทำลายข้อมูลอันตรายของยาสูบต่อสุขภาพเพื่อประโยชน์ใน
การคัดค้านการออกกฎหมาย
มาตรา 5.3 ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดว่า ภาคีสมาชิกประเทศต้องสร้างเกราะป้องกันไม่ให้บริษัทบุหรี่เข้ามามีส่วนหรือมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบของประเทศ ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้ภาคีสมาชิกประเทศนำไปดำเนินการ ประกอบด้วย
1. ประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายในสังคมทราบอย่างทั่วถึงถึงความพยายามของบริษัทบุหรี่ในการขัดขวางนโยบายควบคุมยาสูบ
2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่มีการติดต่อกับบริษัทบุหรี่ ยกเว้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบเท่านั้น การพบปะต้องโปร่งใสและมีรายงานบันทึกเป็นหลักฐานที่สาธารณะจะตรวจสอบได้
3. หน่วยงานรัฐไม่ร่วมกิจกรรมใด ๆ กับบริษัทบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่เกี่ยวกับเยาวชนการศึกษา
4. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่รับของขวัญ การบริการ หรือความช่วยเหลือใด ๆ จากบริษัทบุหรี่
5. ควรห้ามหน่วยงานของรัฐทุกแขนงรับความช่วยเหลือไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ จากบริษัทบุหรี่
6. ห้ามบริษัทบุหรี่บริจาคสนับสนุนพรรคการเมือง นักการเมือง หรือสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์หาเสียง
7. ห้ามสนับสนุนและหรือร่วมกิจกรรมในโครงการที่เรียกว่า “เพื่อสังคม” ของบริษัทบุหรี่
8. ห้ามประชาสัมพันธ์ โฆษณาโครงการช่วยเหลือ บริจาคให้แก่สังคมโดยบริษัทบุหรี่
9. ไม่ให้สิทธิพิเศษใด ๆ แก่บริษัทบุหรี่
10. ปฏิบัติต่อบริษัทบุหรี่ที่เป็นของรัฐ เช่นเดียวกับบริษัทบุหรี่อื่น ๆ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่าที่ผ่านมาจะยึดหลักการที่ไม่ให้โรงงานยาสูบ หรือบริษัทบุหรี่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ อันเป็นเหตุให้งานควบคุมยาสูบของประเทศไทยประสบความคืบหน้าในระดับหนึ่ง แต่มีสิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการอีกไม่น้อยภายใต้ข้อตกลงมาตรา 5.3 เช่น การประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงานรัฐทราบถึงกลยุทธการแทรกแซงนโยบายของบริษัทบุหรี่ การมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับจำกัดการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะพบปะกับผู้แทนบริษัทบุหรี่ การออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้บริษัทบุหรี่ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านการค้าและการตลาดต่อรัฐบาล การกำหนดนโยบาย หรือกฎระเบียบห้ามหน่วยงานรัฐรับบริจาคหรือการสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ การห้ามหน่วยงานรัฐยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับบริษัทบุหรี่เป็นต้น
อนึ่ง หลักฐานพบว่าประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากบริษัทบุหรี่ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ยังอยู่ในระดับที่สูง โดยอาเซียนมีผู้สูบบุหรี่รวม 125 ล้านคน หรือ ร้อยละ 10 ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก ปัจจุบันนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ต่อปีในอินโดนีเซียเท่ากับ 427,000 คน มาเลเซีย 10,000 คน ฟิลิปปินส์ 87,000 คน เวียดนาม 40,000 คน และประเทศไทย 42,000 คน
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ โทร.081-8229799
คุณบังอร ฤทธิภักดี โทร.081-2551280
ที่มา : เครือข่ายนักรณรงค์เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งเอเชียอาคเนย์ (seatca)
update 26-02-52