สัมผัส…ค่ายนวดแผนไทย มรภ.มหาสารคาม

ในอดีตคนไทยมักรักษาอาการเจ็บไข้ด้วยสมุนไพร หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น ต่อมาความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่หันมาใช้ยาแพทย์แผนใหม่จากซีกโลกตะวันตก ทั้งยาเม็ดยาแคปซูล ยาน้ำ ยาฉีด เนื่องจากสะดวกและเห็นผลเร็ว จึงละเลยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการรักษาโรคเบื้องต้น ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองและยังเป็นอันตรายต่อการขับพิษของยา นอกจากนี้ เยาวชนคนรุ่นใหม่แทบไม่ให้ความสนใจภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรพื้นบ้านเลย

สัมผัส...ค่ายนวดแผนไทย มรภ.มหาสารคาม

ขณะเดียวกัน การนวดแผนไทยก็นับเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน เชื่อว่าเริ่มต้นจากความสัมพันธ์สายใยในครอบครัว ที่ช่วยเหลือกันบรรเทาการปวดเมื่อยเกร็งกล้ามเนื้อด้วยการสัมผัสจับต้องหรือกดบริเวณที่มีอาการ เช่นสามีภรรยานวดให้กัน ลูกนวดให้พ่อแม่ หลานนวดให้ปู่ย่าตายาย จนเกิดความชำนาญ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ลูกประคบสมุนไพรเพื่อทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายหรือไล่เลือดลม รวมถึงผู้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ ฟกช้ำ

ดร.เนตรชนก จันทร์สว่าง ดังนั้น เพื่อสืบสานภูมิปัญญาในการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรค สร้างความตระหนักในการนวดแผนไทยและรู้จักการทำยาสมุนไพรจากครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ดร.เนตรชนก จันทร์สว่าง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม จึงนำนักศึกษาชมรมสาธารณสุขชุมชนและชมรมเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.มหาสารคามจำนวน 20 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามจำนวน 30 คน รวม 50 คน เข้า “ค่ายนวดแผนไทย สืบสานภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน” ณ วัดป่าเจริญธรรมหรือวัดป่าชุนชนนาสีนวน ต.นาสีนวน

ดร.เนตรชนก เล่าว่า ค่ายนวดแผนไทยฯ เป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 3 โดยนักเรียนนักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีปรุงหรือผสมยาแบบง่ายๆ จาก พระธวัชชัย ขันติโก รองเจ้าอาวาสวัดป่าเจริญธรรมหรือวัดป่าชุนชนนาสีนวน ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย ซึ่งถือเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความรู้ด้านการปรุงหรือผสมยาจากสมุนไพรพื้นบ้าน เมื่อนักเรียนนักศึกษาออกจากค่าย สามารถนำวิชาความรู้ไปปรับหรือประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การปรุงหรือผสมยาแก้ปวดฟัน ยาหม่องสมุนไพร ลูกประคบ น้ำยาบ้วนปากจากสมุนไพร และการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในการรักษาโรค เช่น โรคลูกประคบสมุนไพรกระเพาะ โรคริดสีดวง

ก่อนออกจากค่าย จะมีการเสวนาและสรุปองค์ความรู้ที่ได้รับ เพื่อเปรียบเทียบวิธีการใช้สมุนไพรรักษาโรคของหมอยาพื้นบ้าน กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมการทำงานเป็นทีม โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิโกมลคีมทอง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทุกปีจะเน้นที่ภูมิปัญญาชีวิตประจำวันได้ เช่น การปรุงหรือผสมยาแก้ปวดฟัน ยาหม่องสมุนไพร ลูกประคบ น้ำยาบ้วนปากจากสมุนไพร และการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในการรักษาโรค เช่น โรคลูกประคบสมุนไพรกระเพาะ โรคริดสีดวง

สัมผัส...ค่ายนวดแผนไทย มรภ.มหาสารคาม

พระธวัชชัย บอกว่า การนำเยาวชน นักเรียน นักศึกษามาเข้าค่าย ถือเป็นแบบอย่างที่ดี ผู้เข้ารับการอบรมและฝึกปฏิบัตินอกจากจะได้เรียนรู้วิธีการนวดแผนไทยแล้ว ยังได้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด รวมถึงได้ถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับการทำลูกประคบ ยาแก้ปวดฟันน้ำยาบ้วนปากจากสมุนไพร ยาหม่องสมุนไพร และยาแก้ปวดท้อง ทั้งนี้ภูมิปัญญาการใช้สมุนไพร ไม่ใช่แค่หาพืชสมุนไพรมาต้มดื่มหรือทาถู แต่ยังมีกรรมวิธีต่างๆ มาเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย เช่น การบริกรรมคาถาขณะรักษา การเสกเป่า เป็นต้น

ในการเตรียมยาสมุนไพร ยังมีเคล็ดลับต่างๆเช่น การเก็บรากยาจะต้องมีการบริกรรมคาถา การเก็บพืชสมุนไพรบางชนิดจะต้องเลือกเวลาเช้าหรือเย็น หรือต้องเก็บในวันพระเท่านั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้แล้ว เพราะตนเป็นคนถ่ายทอดวิชาความรู้รวมทั้งเคล็ดลับในการปรุงยาให้ มั่นใจว่าเยาวชนจะสามารถปรุงยาใช้ได้ด้วยตนเองอย่างปลอดภัย และเมื่อเยาวชน นักเรียน นักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในการใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยสมุนไพรอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป

นายเคน ศรีภักดี อายุ 58 ปี หมอยาพื้นบ้าน บ้านนาสีนวน บอกว่า พืชสมุนไพรภายในวัดป่าเจริญธรรม มีกว่า 120 ชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติทางยาต่างกัน เช่น โกทา พังคีน้อย และต้นโคมไฟหรือ โป๊ะเป๊ะ มีคุณสมบัติใช้รักษาโรคกระเพาะ รากคัดเค้า รากทับทิม เหงือกปลาหมอ และแก่นจำปา มีคุณสมบัติใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร ตูมจัง ตูมกา ตูมใหญ่ ดูกใส ดูกหิน ตาไก้หรือกำแพงเจ็ดชั้น แฮดกวาง และเครือเขาคอน มีคุณสมบัติใช้ขับลม เป็นต้น

ค่ายนวดแผนไทยฯ จะทำให้นักเรียน นักศึกษาได้รู้จักข้อดีของการใช้สมุนไพร สามารถทำใช้ได้เอง นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด เชื่อว่านักเรียนนักศึกษาที่ผ่านการอบรม จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันเพราะยาแต่ละชนิดทำได้ง่าย วัตถุดิบก็สามารถหาได้ในท้องถิ่น

น.ส.สุทธิรัตน์ สุทธิสา หรือน้องเมจิ อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.มหาสารคาม เล่าว่าได้รู้จักและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนแล้ว ตนยังได้ความรู้เกี่ยวกับการผสมหรือปรุงยาแบบง่ายๆ จากสมุนไพรพื้นบ้าน ทำให้รู้ว่าการใช้สมุนไพรรักษาโรคในท้องถิ่นบางอย่างยังคงนำมาใช้ได้ในยุคปัจจุบัน โดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อยาแผนใหม่ให้สิ้นเปลือง

“นอกจากทำใช้เองแล้วยังสามารถทำขายเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าครอบครัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง คาดว่าหลังจบการอบรม ตนจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือทำเป็นอาชีพเสริมหารายได้ในช่วงปิดเทอม” น้องเมจิ กล่าว

เรื่อง: สุทธิพงษ์ สมวัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code