สัมผัสชีวิต “ผู้ต้องขัง” ผ่านเรือนจำกลางอุดรธานี
เรื่องโดย : นางสาวปนัดดา ศรประสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน คณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพโดย สสส.
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการได้ไปศึกษาดูงาน ณ เรือนจำกลาง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 คือ ได้มีโอกาสมาเห็นชีวิตในเรือนจำว่าเขาอยู่กันอย่างไร พบเจอความลำบากอะไรบ้าง ข้างในเรือนจำมีกระบวนการทำงานบริหารจัดการกันอย่างไร
การได้มาในครั้งนี้มาในช่วงมีการจัดโครงการหน่วยทันตกรรม พระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่มาทำการรักษาฟันผู้ต้องขัง เราจึงได้เห็นการทำงานของหมอฟันอย่างใกล้ชิด และได้เห็นการทำฟันแบบโจ่งแจ้งเปิดเผยแบบนี้เป็นครั้งแรก มีการอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด การทำฟันปลอม ทำรีเทนเนอร์ ได้เห็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คุณหมอใช้เยอะแยะไปหมด และเห็นความตั้งใจของคุณหมอที่ทำงานกันอย่างหนักไม่ได้เงยหน้ากันเลย
จากที่ได้พูดคุย และทำการสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ผู้ต้องขัง และอาจารย์ ทำให้เราได้เห็นปัญหาต่าง ๆ จากคำบอกเล่าของเขาดังนี้ คนแรกที่ได้ไปคุยด้วยคือ อาจารย์นภาภรณ์ หะวานนท์ เป็นอาจารย์ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรือนจำมาเป็นเวลา 10 ปี อาจารย์ได้เล่าถึงเรือนจำคร่าว ๆ ว่า เรือนจำชายมี 6 แดน ในแต่ละแดนก็จะทำงานต่าง ๆ กัน มีทำไม้ ทำแห อวน ช่างสี จักสาน ทำอาหาร ส่วนเรือนจำหญิงมี 1 แดน พื้นที่คับแคบมากมีทำงานดอกไม้ ตัดเย็บ เบเกอรี่ เสริมสวย ส่วนมากจะได้ทำงานน่าเบื่อกัน ต่อมาผู้คุมผู้ต้องขังก็พาไปดูผู้ต้องขังชาย ซึ่งเป็นเพศทางเลือกกำลังทำงานซักผ้าปูที่นอนกันอยู่ เขาบอกว่า 1 เดือน จะมีการซักผ้าปูที่นอนหนึ่งครั้ง ตอนเดินเข้าไปในแดนชาย ทุกคนหันหลังให้เราหมดเลย แต่มีแอบเนียนเหล่มองแทบทุกคน ผู้คุมบอกว่าที่ต้องหันหลังให้เพราะเขาป้องกันผู้ต้องขังทำร้ายเรา เลยต้องให้หันหลัง เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ที่ผู้ต้องขังจับคนที่มาดูงานเป็นตัวประกันด้วย ปัญหาที่เราเห็นเองตอนเดินเข้าไปในแดนชาย คือ ที่ตากผ้าแออัดมาก และมีกลิ่นอับชื้น ตอนเดินผ่านยังต้องกลั้นหายใจ ห้องน้ำมีกำแพงเตี้ยมากจนน่าตกใจ แล้วก็มีกลิ่นเหม็น เมื่อคุยกับผู้คุมแล้วทำให้เราทราบว่าผู้ต้องขังไม่สามารถออกกำลังกายกลางแจ้งได้ เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด สามารถออกกำลังกายได้แค่ท่ากายบริหาร 10 ท่าพญายม เพราะถ้าหากมีอุปกรณ์ในการออกกำลังกายก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย และตอนนี้เรือนจำประสบปัญหาประชากรแออัด เนื่องจากมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 3,000 คน
ต่อมาได้มาดูที่แดนหญิง ทำให้เห็นว่ามีกิจกรรมหลายอย่าง มีเสริมสวย ตัดเย็บ ทำเบเกอรี่ (อร่อยมาก) ได้ลองชิมแล้ว ทำครัว เล่นโยคะ กิจกรรมก็ดูน่าสนุกน่าสนใจดี แต่บางกิจกรรมก็ดูน่าเบื่อและไม่ค่อยได้ขยับเขยื้อนร่างกาย น่าจะมีปัญหาการปวดเมื่อยตามมาได้ เช่น ทำพาน ทำดอกไม้ เป็นงานที่ทำแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ ทำฆ่าเวลาไปเรื่อย ๆ ต่อมาเขาก็พามาดูห้องพยาบาล ห้องพยาบาลจะอยู่ในแดนหญิง ถ้าผู้ชายจะมาก็จะต้องติดต่อผู้คุมและจะมีคนพามา มีโอกาสได้คุยกับพี่พยาบาล เขาเล่าถึงการทำงานว่าทำงานที่นี่ต้องเป็นคนบริหารจัดการเองทุกอย่าง ทำครบทุกด้านในมิติสุขภาพ คือ ทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ทำให้ยุ่งมาก ไม่ค่อยมีเวลาว่าง ทางด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังจะมีโรคดังนี้ โรควัณโรคในเรือนจำที่มีการติดต่ออยู่ได้ง่าย ตอนนี้มียอดรักษาวัณโรคประมาณ 50 คน, โรคทางจิตเวชมีอยู่ 90 คน ที่มารับการบำบัดรับยาอยู่, โรคเอดส์ ผู้หญิงและผู้ชายรวมกันมี 70 กว่าคน, โรคทางผิวหนัง ก็จะมีโรคหิด โรคกลากเกลื้อน ผื่นแพ้ (ส่วนใหญ่พบในผู้ชาย), โรคที่ร้ายแรง ผู้ชายจะเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง มะเร็งทวารหนัก ส่วนผู้หญิงไม่ค่อยเจอโรคร้ายแรง ส่วนมากจะเป็นโรคระบบกล้ามเนื้อ, โรคกลุ่ม NCDs ผู้หญิงและผู้ชายรวมกันมี 200 กว่าคน ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเบาหวาน พี่พยาบาลจึงมีข้อเสนอว่าอยากให้ทำโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของผู้ต้องขัง ในเรื่องการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย เพระถ้าหากมีก็จะช่วยลดโรคกลุ่ม NCDs ได้มาก
จากนั้นก็ได้มาคุยกับผู้ต้องขัง ได้คุยทั้งหมด 5 คน ผู้หญิง 4 คน ผู้ชาย 1 คน ได้ถามถึงชีวิตในเรือนจำและกิจวัตรประจำวันของเขา ทำให้เราทราบถึงกิจวัตรประจำวันที่เขาทำทุกวัน จันทร์-ศุกร์ คือ 5.00 น ตื่นนอน สวดมนต์ /7.00 น. อาบน้ำ กินข้าว /8.00 น.เข้าแถวเคารพธงชาติ /9.00 น. เข้ากองงาน /12.00 น. กินข้าว /13.00 น. ทำงานต่อ /14.30 น. กินข้าว อาบน้ำ /16.00 น. ขึ้นเรือนนอน /21.00 น. นอนหลับเพราะจะปิดโทรทัศน์ปิดเพลงเวลานี้ ถ้าเป็นวัน เสาร์-อาทิตย์ จะเป็นวันหยุด ก็จะไม่เข้ากองงาน แต่ละคนที่ไปถามมีอยู่ โยคะ 2 คน อยู่กองงานดอกไม้ 2 คน ลุงสูงอายุ 1 คนไม่ได้ทำงานแล้ว เรารู้สึกเห็นใจที่เขาต้องทำอะไรเดิม ๆ ซ้ำ ๆ น่าเบื่อแบบนี้ทุกวัน แล้วพี่ผู้ต้องขังที่ฝึกโยคะก็ได้บอกว่า พอมาเล่นโยคะแล้วเค้าไม่เคยป่วยเลย สุขภาพดีมาก ช่วยให้หายคิดถึงลูกที่บ้านได้ เพราะมีสมาธิจดจ่อกับท่าโยคะ ส่วนคุณลุงมีอายุเยอะแล้ว ไม่ได้ทำงาน และมีโรคประจำตัวคือ โรคความดัน โรคไขมันในเลือด โรคเก๊า ปัญหาของลุงก็คือ มีเศร้าบ้างเวลาคิดถึงอดีต คิดถึงลูก และอยากมีอิสระมากกว่านี้ คุณลุงมีข้อเสนอว่าอยากให้มีคนมาศึกษาทำงานวิจัยในเรือนจำ จะได้มีการพัฒนาระบบหลาย ๆ อย่าง และให้คนข้างนอกเข้าใจชีวิตในเรือนจำมากขึ้น
หลังจากคุยกับผู้ต้องขังแล้วได้มีโอกาสคุยกับ อาจารย์ธีรวัลย์ วรรธโนทัย เป็นอาจารย์ที่ทำโครงการในเรือนจำ ได้แก่ โครงการโยคะในเรือนจำ โครงการการปลูกผักสวนครัว และโครงการสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น ศิลปะ วาดรูป ทำผ้าบาติก เทียนหอม อาจารย์เล่าว่า การที่จะทำโครงการในเรือนจำได้สำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับ ผอ.ในเรือนจำว่าเขาจะให้ทำมั้ย ถ้าผอ.ให้ทำก็ทำได้ เพราะบางที่เจ้าหน้าที่จะไม่ชอบให้ผู้ต้องขังมีเสียงหัวเราะเฮฮา อยากให้นั่งเงียบ ๆ เรียบร้อย
จากการดูงานในวันนี้ที่เราพบเจอปัญหาต่าง ๆ ทำให้เราคิดว่า หากเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมแก้ปัญหาได้จะเริ่มจากโครงการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่เรือนจำสามารถทำได้ โดยการจัดให้มีแต่อาหารที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพดี ไม่ควรให้ผู้ต้องขังรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ไขมันสูง และรสหวานจัด ควรส่งเสริมให้รับประทานผักผลไม้เยอะ ๆ และควรให้มีการออกกำลังกายที่เพียงพอตามหลัก โดยควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที และควรมีกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดให้ผู้ต้องขังด้วย เช่น การร้องเพลง การเต้น กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ลดจำนวนผู้ป่วยโรคกลุ่ม NCDs และช่วยบำบัดผู้ป่วยโรคทางจิตเวชได้อีกด้วย
และจากการดูงานเรือนจำในวันนี้ ทำให้เรามองผู้ต้องขังเปลี่ยนไปเลย เขาไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราเคยคิด และการที่เขาไม่ได้รับอิสระภาพนั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับบทลงโทษ เราควรที่จะให้เกียรติ ให้ความเท่าเทียม ไม่ดูถูกกีดกั้นคนเหล่านี้ และเปิดโอกาสให้เค้ากลับมาสู่สังคมได้อย่างปกติ และไม่ทำผิดพลาดอีกครั้ง