สัตว์เลี้ยงข่วนอาจติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
เตือนถูกสุนัข-แมวข่วน อาจติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า อันตรายถึงชีวิตได้ แนะรีบพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน
แฟ้มภาพ
นายพลเฉลิม ศรมณี ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรง ไม่มียารักษา เมื่อมีอาการป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เมื่อถูกสุนัขหรือแมวข่วนแล้วไม่ให้ความสำคัญดูแลรักษาบาดแผล และไม่ได้พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ จึงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
โรคนี้โดยทั่วไปเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-7 เดือน แต่มีบางรายอาจสั้นหรือนานกว่านี้ โดยสุนัขที่ป่วยเป็น โรคพิษสุนัขบ้าสังเกตได้ คือ สุนัขจะมีนิสัยพฤติกรรมเปลี่ยนไป ในระยะแรก ต่อมาอาจจะมีอารมณ์หงุดหงิด หางตก น้ำลายไหล กัดสิ่งของที่ขวางหน้า ระยะท้ายอาจจะมีอาการ บางตัวอาจแสดงอาการคล้ายกระดูกหรือก้างติดคอ ซึ่งทำให้เจ้าของเข้าใจผิดจนเอามือไปล้วงที่ปากคลำหากระดูกหรือก้าง หากพบสุนัขมีอาการดังกล่าว ขอให้นึกถึงโรคพิษสุนัขบ้า และแยกสุนัขไว้ไม่ให้ คลุกคลีกับสุนัขอื่นหรือคน และแจ้งปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที
ส่วนคนที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือบาดแผลตามผิวหนัง โดยเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนที่บริเวณแผลถูกกัด หลังจากนั้นประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน จะมีอาการป่วย บางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน อาการป่วยจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไปยัง ตำแหน่งบาดแผล หากอยู่ใกล้สมองเชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาทกลาง หรือเข้าสู่สมองได้เร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวน กระวาย หากเชื้อเข้าสู่กระดูกไขสันหลังจะทำให้สมองหรือไขสันหลัง ทำงานผิดปกติ มีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น หากถูกสุนัข แมว กัด ข่วน ควรรีบพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ แพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า