สัญญานเตือน “มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก”

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์


สัญญานเตือน


แฟ้มภาพ


ปัจจุบันผู้หญิงหันมาดูแลสุขภาพกันมากโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น ด้วยการออกกำลังกายรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น รับประทานอาหารเสริม ยาสมุนไพร เพื่อลดอายุ เพราะอยากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดูอ่อนกว่าวัย และหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงในวัย 50 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่ประจำเดือนเริ่มหมดหรือเรียกว่าเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทอง ผู้หญิงที่อ้วน หรือไม่มีบุตร ท่านอาจจะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่ถ้ามาพบแพทย์ตั้งแต่แรกเริ่มมีอาการก็สามารถรักษาได้


ข้อมูลจาก แพทย์หญิงกมัยธร เทียนทองกลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ รพ.ราชวิถี เปิดเผยว่า มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีไทย โดยพบประมาณ3 คนต่อแสนรายต่อปี แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา หรือยุโรป จะพบบ่อยเป็นอันดับ 1


ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่เริ่มมีการรับประทานอาหาร ลักษณะความเป็นอยู่คล้ายคลึงประเทศแถบตะวันตกมากขึ้นทุกที จึงพบการเกิดมะเร็งชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน แต่ในปัจจุบันเริ่มพบในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปีมากขึ้น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เกิดได้จากหลายสาเหตุ พบว่าการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน เป็นปัจจัยที่พบได้บ่อย ดังนั้นภาวะใดก็ตามที่ทำให้มีฮอร์โมนเหล่านี้มากผิดปกติก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้ด้วย ได้แก่


  •  คนไข้วัยทอง ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมเพียงอย่างเดียว สามารถกระตุ้นโรคนี้ได้              
  •  สมุนไพร ยาสมุนไพรบางชนิดมีเอสโตรเจนปริมาณสูง เช่น กวาวเครือ และอีกหลายชนิดมีเอสโตรเจนแฝงอยู่โดยไม่รู้ การรับประทานสมุนไพรบางตัวจึงอาจทำให้เสี่ยง  ต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
  •  ความอ้วน คนที่มีน้ำหนักตัวมากจะมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้มากกว่าคนที่น้ำหนักตัวปกติ ดังนั้นยิ่งอ้วนมากยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น
  •  ยารักษามะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด มีความจำเป็นที่แพทย์จะให้รับประทานยาป้องกันการกลับเป็นซ้ำ (ทามอกซิเฟน) ซึ่งยานี้จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติได้ จึงสมควรได้รับการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยควรจดความถี่ของประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ ถ้าผิดปกติควรมาตรวจกับสูตินรีแพทย์
  •  ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หน้ามัน มีสิว หรือมีขนดกมากขึ้น


นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก ได้แก่ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ผู้หญิงที่ไม่มีลูก มีประวัติพันธุกรรม ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะการมีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งแต่จะได้เฝ้าระวังดูแลและรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการ


อาการแสดงของโรค โรคนี้มักเริ่มแสดงอาการแต่เนิ่นๆ นั่นคือ มีเลือดออกทางช่องคลอด เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มักเกิดหลังอายุ 50 ปี ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนที่มีเลือดออกหลังหมดประจำเดือนไปแล้วควรรีบมาพบแพทย์ หากผู้ที่ยังไม่ถึงวัยทอง แต่ถ้ามีอาการเลือดออกผิดปกติที่ไม่ใช่รอบเดือน เช่น ออกกะปริดกะปรอย หรือออกมามากและนานกว่าปกติ คือเกิน 7 วันต่อรอบ ก็ควรมาพบแพทย์เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ยิ่งพบแต่ระยะแรกโอกาสหายยิ่งสูง หากมีอาการผิดปกติไม่ควรนิ่งนอนใจ


การวินิจฉัยที่แน่นอนได้จากการนำชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกไปตรวจทางพยาธิวิทยา วิธีการตรวจมีได้หลายอย่างไม่ต้องดมยาสลบ การดูดเซลล์ โดยสอดหลอดเล็กๆ เข้าไปในปากมดลูกเข้าไปเก็บเนื้อในโพรงมดลูก หรือต้องขูดมดลูก หรืออีกวิธีคือการส่องกล้องเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อเก็บชิ้นเนื้อ ซึ่งขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาในการเลือกวิธี ซึ่งเมื่อเราได้ชิ้นเนื้อนั้นมาแล้ว หากมีเซลล์มะเร็งอยู่จะมีวิธีการรักษาต่อไป


การรักษา การผ่าตัดเป็นวิธีหลักของการรักษาโรคนี้ที่เป็นทั้งการรักษาและกำหนดระยะของโรคสามารถทำได้โดยการผ่าตัดทั้งการผ่าตัดทางหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านกล้อง หลังจากผ่าตัดแล้วแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาต่อว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาเพิ่มเติม เช่นการให้รังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัดหรือไม่


วิธีป้องกันตัวเอง เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวิธีคัดกรอง คนไข้จะต้องสังเกตตัวเอง ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติก็ควรจะต้องมาพบแพทย์โดยเร็ว การลดความอ้วนออกกำลังกาย และไม่ใช้ยาสมุนไพรโดยไม่จำเป็นก็จะช่วยให้ลดการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ นอกจากนี้ปัจจัยที่พบว่าสามารถป้องกันโรคนี้ได้คือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือฉีดยาคุมกำเนิด 


ปัญหาหลักของผู้หญิงในปัจจุบันคือ ไม่ยอมมาตรวจภายในเพราะว่าอาย มีเลือดออกทางช่องคลอดก็ไม่มาตรวจเพราะว่าไม่คิดว่ามีความสำคัญ ทำให้เสียโอกาสในการรักษาถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้


 

Shares:
QR Code :
QR Code